ทั้งหมดที่กล่าวมาในบทความก่อนหน้าได้แก่ รู้จัก Blockchain ตั้งแต่ต้น , ลักษณะการทำงานของ Blockchain , Blockchain และ Bitcoin เกี่ยวข้องกันอย่างไร พอจะทำให้เราตระหนักถึงกระแสของ Blockchain ได้บ้างแล้ว เราอาจกล่าวได้ว่า ถ้า Blockchain สามารถนำมาซึ่งคุณค่า มีความน่าเชือถือ และสร้างความไว้วางใจให้กับวงการธุรกรรมทางการเงินได้มากขนาดนั้น ทั้งๆที่เรื่องเงินๆทองๆนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดปัญหาทางการเงินมักก่อให้เกิดการสั่นสะเทือน ส่งผลกระทบต่อสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และประชาชนได้ ลองนึกภาพว่าให้เราถอดเรื่องของการเงินออก แล้วนำระบบ Blockchain ไปใช้กับธุรกรรมอื่นแทน ธุรกรรมนั้นจะน่าสนใจมากแค่ไหน เพราะการที่ Blockchain สามารถบันทึกทุกอย่างได้ตั้งแต่แรกเท่ากับเป็นการสร้างและเรียกคืนความโปร่งใสชนิดสุดขั้วจากทุกฝ่ายที่อยากทำธุรกรรม มิหนำซ้ำข้อมูลแทบทุกรูปแบบวันนี้สามารถแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัลได้ ดังนั้น Blockchain ก็สามารถใช้รองรับกิจกรรมที่แตกต่างหลากหลายได้อีกมาก เพราะกิจกรรมแทบทุกชนิดตั้งอยู่บนการแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายหลักทรัพย์ ตราสาร สินเชื่อ ที่ดิน บ้าน สินค้า การศึกษา การให้คะแนน การลงคะแนน ฯลฯ ไปจนถึงเอกสารยืนยันความถูกต้องและข้อตกลงต่างๆ ด้วย หากทำด้วยระบบ Blockchain จะทำให้เสร็จเร็วกว่า ง่ายกว่า แม่นยำมากกว่า และถูกกว่าวิธีที่เราคุ้นเคยอย่างมหาศาล
ตัวอย่างสิ่งที่เกิดขึ้นจาก Blockchain ที่จะเปลี่ยนแปลงอนาคต
ธนาคารกรุงศรีและไออาร์พีซี ประกาศความสำเร็จในการโอนเงินระหว่างประเทศผ่าน นวัตกรรม Krungsri Blockchain’s Interledger แบบเรียลไทม์เป็นครั้งแรกของภาคธุรกิจไทย
Krungsri Blockchain’s Interledger พลิกโฉมโลกการเงินในภาคธุรกิจ ไทย เมื่อ กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จํากัด (มหาชน)) และ IRPC (บริษัท ไออาร์พีซี จํากัด (มหาชน)) ร่วมประกาศความสําเร็จนํานวัตกรรม Krungsri Blockchain’s Interledger มาใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศ แบบเรียลไทม์เป็นครั้งแรกในการซื้อ-ขายน้ำมันระหว่างไออาร์พีซีและคู่ค้าในต่างประเทศ การให้บริการดังกล่าวประสบความสำเร็จสามารถโอนเงินเสร็จภายในหลักวินาทีจากเดิม ทีต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-3 วันทำการ ความสําเร็จในครั้งนี้พลิกโฉมธุรกิจระหว่างประเทศเป็นอย่างมากเพราะธุรกรรมการโอนเงินระหว่างประเทศทีรวดเร็วขึ้นนั้นช่วยสร้างความได้เปรียบในเวทีธุรกิจ และสนับสนุนโอกาสในการเติบโตธุรกิจได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อมโยงการบริหารจัดการในด้านการขนส่งได้อย่างรวดเร็วและเป็นระบบยิ่งขึ้น
ที่มา: Blognone (เผยแพร่วันที่ 28 กันยายน 2560)
IBM เผยโซลูชัน Blockchain สำหรับทำสัญญาและโอนเงินข้ามประเทศ ตอบโจทย์ธุรกิจ B2B และ B2C โดยมีกสิกรไทยเข้าร่วม
สัญญาและโอนเงินระหว่างกันได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย โดยใช้เทคโนโลยี IBM Blockchain เป็นพื้นฐาน ในการเปิดตัวครั้งนี้ IBM ได้จับมือกับ Stellar.org และ KlickEx Group เพื่อพัฒนาโซลูชันร่วมกัน เพื่อให้การทำสัญญาและการทำธุรกรรมนั้นเกิดขึ้นได้ภายใน Blockchain บน Cloud แบบเกือบ Real-time ปัจจุบันโซลูชันนี้รองรับสกุลเงิน 12 สกุลแล้ว ได้มีการร่วมมือกับธนาคารและสถาบันการเงินหลากหลายประเทศ รวมถึงกสิกรไทยด้วย โดย World Bank ได้ออกมาวิเคราะห์ว่าเทคโนโลยีที่จะมาปรับปรุงธุรกรรมการจ่ายเงินให้ดีขึ้นในลักษณะนี้จะมีผู้ใช้งานจำนวนมากถึง 1,000 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2020 ก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่า IBM จะเข้าไปมีบทบาทในตลาดนี้ได้มากน้อยแค่ไหนในอนาคต
ที่มา: Techtalkthai (เผยแพร่วันที่ 16 ตุลาคม 2560)
Massachusetts Institute of Technology (MIT) เริ่มให้บริการ Digital Diploma ใช้ Blockchain ยืนยันการจบหลักสูตรและปริญญาบัตร
MIT ใช้ Blockchain ในการสร้าง Digital Diploma เพื่อใช้ยืนยันว่านักศึกษาได้เรียนจบหลักสูตรหรือได้ปริญญาบัตร และนำไปอ้างอิงได้ผ่าน Mobile Application บน Smartphone เพิ่มเติมจากเอกสารบนกระดาษแบบเดิมๆ โครงการนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง MIT Registrar’s Office และบริษัท Learning Machine พัฒนา Application ที่มีชื่อว่า Blockcerts Wallet เพื่อให้นักศึกษาที่เรียนจบไปนั้นได้นำปริญญาบัตรของตนไปอ้างอิงได้อย่างง่ายดาย และทำให้การปลอมแปลงสวมรอยอ้างว่าเรียนจบจาก MIT เป็นไปได้ยากขึ้น
ที่มา: Techtalkthai (เผยแพร่วันที่ 27 ตุลาคม 2560)
ราคาหุ้นบริษัทชาในอเมริกา Long Island Iced Tea พุ่งขึ้นถึง 500% ในวันเดียว เพียงประกาศเปลี่ยนชื่อเป็น Long Blockchain
เรื่องนี้ฟังดูดราม่าไปนิด เกิดจากบริษัท Long Island Iced Tea ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทชาในอเมริกามีผลประกอบการขาดทุนมาตลอด ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq ว่าจะทำการเปลี่ยนชื่อบริษัท จาก Long Island Iced Tea Corp. มาเป็น Long Blockchain Corp. เพื่อเริ่มเข้าสู่การลงทุนในเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งมองว่าเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ แม้ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาและยังไม่ได้ร่วมลงทุนกับบริษัทใดๆ แต่เพียงแค่นี้ก็เป็นข่าวดีมากพอแล้ว เพราะราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นทันทีถึงสูงสุดถึง 500% และสุดท้ายปิดการซื้อขายราคาหุ้นก็ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 183% ภายในวันเดียว ทำให้บริษัทมีมูลค่ากิจการ 23.8 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งข้อมูลจาก Financial Times รวบรวมมาพบว่าในตลาดหุ้นอเมริกาช่วงที่ผ่านมา มีหลายบริษัทที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นหลายเท่า จากการประกาศว่าจะลงทุนในเทคโนโลยี Blockchain
ที่มา: ฺBlognone (เผยแพร่วันที่ 22 ธันวาคม 2560)
เซอร์ไพรส์วงการ Blockchain เมื่อ Kodak และ LINE ประกาศเตรียมออกเงินดิจิทัลของตัวเอง
วงการเงินดิจิทัลและ Blockchain ยังฮอตไม่หยุด เมื่อบริษัทสาย Traditional อย่าง Kodak ขยับตัวครั้งใหญ่ เดินหน้าเตรียมเปิดตัวเงินดิจิทัลของตัวเองภายใต้ชื่อ KODAKCoin โดย Kodak กล่าวว่า KODAKCoin จะเป็นเงินดิจิทัลที่โฟกัสกับงานภาพถ่าย เพื่อสนับสนุนช่างภาพและ agency ในการควบคุมและจัดการเรื่องลิขสิทธิ์ของภาพถ่ายให้รัดกุมยิ่งขึ้น ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลของ Kodak จะเป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ช่างภาพได้รับเงินแบบปลอดภัยมากขึ้น และช่วยปกป้องผลงานด้วย นอกเหนือจากการบันทึกลิขสิทธิ์ภาพ KODAKOne ยังให้บริการค้นหา ตรวจสอบการละเมิดลิขสิทธิ์ ที่อาจจะเกิดขึ้นบนเว็บต่างๆ ต่อด้วย และหากตรวจพบการละเมิด ระบบจะช่วยดำเนินการให้เพื่อให้ช่างภาพได้รับการตอบแทนตามที่สมควรได้รับ ขณะที่แอปพลิเคชัน Messenger อย่าง Line ก็ประกาศจะออกเงินดิจิทัลเช่นกัน โดยมีข่าวว่ากำลังหารือพูดคุยกับ partner หลายราย เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่าเดิม นอกจากนัน Line เริ่มประสบปัญหาจากการเสียผู้ใช้บริการบางส่วนไปจาก 218 ล้านคน เหลือ 203 ล้านคนในเดือนตุลาคม 2017 ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ว่า Line จะนำเงินดิจิทัลและระบบ Blockchain มาใช้สำหรับการให้รางวัลผู้ใช้ที่ใช้บริการแชทผ่าน Line messenger หรือใช้บริการ Line Pay
ที่มา: Techsauce (เผยแพร่วันที่ 11 มกราคม 2561)
IBM ตั้งบริษัทร่วมทุน Maersk พัฒนา Blockchian สำหรับอุตสาหกรรมขนส่งทางเรืิอ
IBM ประกาศความร่วมมือกับ Maersk บริษัทด้านขนส่งและเดินเรือรายใหญ่ของโลก ตั้งบริษัทร่วมทุน (joint venture) สำหรับนำ blockchain มาใช้กับเครือข่ายขนส่งทางเรือ บริษัทใหม่จะมีหน้าที่สร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการค้าและการขนส่ง เป็นมาตรฐานเปิดที่ให้ทุกบริษัทในวงการชิปปิ้งสามารถใช้งานได้ เป้าหมายคือการลดต้นทุนและความซับซ้อนในการขนส่งสินค้าทางเรือ โดย IBM ระบุว่า blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เหมาะมากสำหรับโจทย์นี้ เพราะการขนส่งทางเรือมีผู้เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก กระจายกันอยู่ทั่วโลก การนำ blockchain มาสร้างฐานข้อมูลกลางสำหรับธุรกรรมที่เกิดขึ้น โดยแชร์ข้อมูลระหว่างกันแต่ไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลได้โดยลำพัง ย่อมจะช่วยให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลทำได้ง่ายขึ้น
ที่มา: Blognone (เผยแพร่วันที่ 17 มกราคม 2561)
จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมดคงเห็นแล้วว่าเทคโนโลยี Blockchain สามารถสร้างแรงกระเพื่อมครั้งยิ่งใหญ่ให้แก่ทุกวงการที่ต้องการความโปร่งใสของข้อมูล ทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ทุกคนรับทราบการเผยแพร่ สามารถเข้าถึงข้อมูลที่ทรงประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูงขึ้น คุณค่านี้เองที่ถือเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับภาคธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก หากตั้งโจทย์การใช้ให้เหมาะสม เราจะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆต่อไปได้อีกมาก สำหรับผู้อ่านทั่วไปอย่างเราๆเองก็พอจะมองเห็นได้ว่า Blockchain สามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งองค์กร สังคม ไปจนสามารถยกระดับศักยภาพของประเทศได้ด้วย เรียกได้ว่าเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจและควรค่าแก่การเรียนรู้จริงๆ ค่ะ
เนื้อหา: มทนา วิบูลยเสข
อัพเดท: 26-01-2018
Digital Marketing Executive | Aware Group ตั้งใจที่จะส่งมอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถศึกษาร่วมกันได้ ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจด้านเทคโนโลยี มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันนะคะ