ในยุค 4.0 ประเทศเข้าสู่สังคมดิจิทัล พวกเราส่วนใหญ่หันมาใช้บริการและเลือกซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเรามีมือถือหรือสมาร์ทโฟนกันแทบทุกคน และเชื่อว่าหลายคนเคยทำธุรกรรมทางการเงินทั้งซื้อ-ขาย โอน-รับเงิน หรืออาจจะทำไปจนถึงการลงทุนกันสักครั้งแหละน่า เพราะความสะดวกรวดเร็วที่เราจะทำที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้โดยที่เราไม่ต้องจับเงินสดเลย แค่มีสัญญาณเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต แต่คุณรู้หรือไม่ว่าทุกครั้งก่อนการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านออนไลน์ คุณต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง ก่อนกดยืนยันเพื่อซื้อสิ่งของหรือโอนเงินกับ 11 สิ่งพึงระวังในยุคสังคมไร้เงินสด
1. มือถือของเราต้องอยู่ในมือ
มีตัวอย่างมากมายเรื่องการทำมือถือหาย ในยุคนี้มือถือคือชีวิตเลยนะนั่น ทั้งข้อมูลส่วนตัว การเงิน การเข้าถึง Access ต่างๆ อยู่ในนั้นทั้งหมด ฉะนั้นดูแลรักษามือถือให้ดี ระวังอย่าทำหายหรือเผลอถูกขโมยไป คุณควรพกมือถือไว้กับตัวตลอดเวลา ให้แน่ใจว่าไม่วางทิ้งไว้ที่ไหนที่จะหาไม่เจอ และควรตั้งรหัสผ่านก่อนเข้าถึงการใช้งาน และหากหายไปจริงๆคุณควรมีวิธีการรับมือด้วย เช่น ตามหาจาก Find My Iphone หรือหาทางติดต่ออายัติธุรกรรมทันที
2. ใช้มือถือตัวเองทำธุรกรรม
มือถือของเรา-ข้อมูลของเรา คุณควรใช้อุปกรณ์ส่วนตัวทำธุรกรรมเท่านั้น ไม่ควรใช้เครื่องของคนอื่นหรือของสาธารณะเด็ดขาด หากเกิดการดักจับการเข้าถึงรหัส รู้ตัวอีกทีคงจะหน้ามืดเลยทีเดียว อย่าให้ถึงวันนั้นเลย
3. รหัสผ่านต้องไม่ง่าย
รหัสผ่านมันต้องยากเหมือนแมวที่เราคาดเดาความคิดของมันไม่ได้สิ ไม่ควรตั้งรหัสผ่านใช้งานง่ายจนเกินไป เช่น 123456 password qwerty หรืออื่นใดที่จะเป็นตัวแทนของพาสเวิร์ดที่แย่ที่สุดแห่งปี ถ้าเกิดมือถือหายและมีการเดาสุ่มได้ จะร้องไห้ทีคงต้องดื่มน้ำเยอะหน่อยล่ะนะ อะนี่…8 เทคนิคการตั้งพาสเวิร์ด (รหัสผ่าน) ให้ปลอดภัย
4. ก่อนโอนดูให้ถ้วนถี่
คุณควรนัดแนะกับผู้ที่จะโอนเงินให้รอบคอบ มีการติดต่อเพื่อการยืนยันการโอนและส่งหลักฐานให้เห็นได้ ก่อนโอนเงินให้ ตรวจดูให้ถ้วนถี่ ทั้งชื่อ เลขที่บัญชีให้ถูกต้องก่อนโอนทุกครั้ง เพราะการไปตามเงินที่โอนผิดยุ่งยากกว่าการตรวจทานก่อนโอนแน่นอน
5. งดธุรกรรมผ่าน WiFi Free
คุณเป็นคนชอบใช้มือถือผ่าน WiFi สาธารณะรึเปล่า? ถ้าใช้รีบอ่านเลย คุณไม่ควรใช้ WiFi สาธารณะหรือ WiFi ฟรี หรือจริงๆแล้วแม้แต่ WiFi ที่บ้านก็ไม่ควรใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะ WiFi เหล่านั้นมีโอกาสที่จะถูกดักจับข้อมูลได้ง่ายมาก ไม่ปลอดภัย คุณควรทำผ่านเน็ตเครือข่ายมือถือของตัวเองที่จ่ายรายเดือนดีที่สุด เพราะโอกาสที่จะโดนแฮ็กข้อมูลแทบจะไม่เกิดขึ้นเลย จึงปลอดภัยที่สุดในบรรดา WiFi นั่นเอง
6. ระวังการคลิกลิงก์
ไม่ว่าจะเป็นแบนเนอร์โฆษณา ข้อความสั้นๆ หรือลิงก์ใดๆที่ร่ายมนต์ให้เราเผลอไผลเคลิ้มไป เพราะคิดว่าเป็นคลิกที่จะลิงก์ไปยังเว็บไซต์ของธนาคาร ถ้าเข้าไปแล้วดึงสติและให้รีบออกมา เราขอแนะนำให้คุณทบทวนข้อความต่อไปนี้ “เว็บธนาคารที่ปลอดภัยต้องขึ้นต้นด้วย https:// เท่านั้น แล้วตามด้วยที่อยู่ธนาคารที่ถูกต้อง” ท่องไว้ให้ขึ้นใจก่อนจะคลิกลิงก์
7. ระวังอีเมลขี้จุ๊
โลกเรายังคงหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปเรื่อยๆ แต่กลโกงไม่เคยจางหายไปจากโลกออนไลน์ อย่าหลงเชื่ออีเมลหลอกลวง ประเภทที่อ้างว่าต้องการทราบข้อมูลที่คุณเคยให้ไว้กับธนาคารเมื่อครั้งเคยไปติดต่อ เพราะทุกธนาคารไม่มีนโยบายแจ้งให้เข้าใช้บัญชีทางการเงินผ่านทางอีเมล และเจ้าอีเมลพวกนี้จะหลอกให้คุณกรอกบัญชีผู้ใช้งานและรหัสผ่าน เพื่อขโมยข้อมูลออกไป
8. ติดตั้งโปรแกรม Anti Virus
เรื่องนี้เราสามารถพูดได้อีกร้อยรอบว่า เราแนะนำให้คุณมีโปรแกรม Anti Virus และติดตั้งแต่โปรแกรมของแท้ด้วย แม้ว่าคุณจะต้องเสียเงิน แต่เครื่องของคุณจะไม่ติดไวรัสที่ได้มาจากโปรแกรมฟรี เพราะของฟรีมักจะเป็นไวรัสเสียเอง หรือไม่ก็มักตรวจสอบไวรัสแบบผ่านๆ เอาน่า…เสียเงินดีกว่าคุณจะต้องร้องอุทานว่า “โถๆๆๆๆถังกะละมังหม้อไหแน่ๆ”
9. ใช้บริการ SMS แจ้งเตือน
นี่เป็นอีกทางที่เหมาะสมมากในเชิงปฏิบัติ คุณควรเปิดข้อความหรือ SMS แจ้งเตือนกับธนาคาร หรือทำ Verify by Visa หรือ Master Card Secure ซึ่งจะ Lock และยังไม่ตัดเงินทันที จนกว่าคุณจะกรอกตัวเลข OTP ที่ส่งทาง SMS ก่อนเท่านั้นจึงจะชำระได้ (สำหรับการชอปปิ้งออนไลน์ – Online) เพื่อว่าหากมีการทำธุรกรรมใดเกิดขึ้นที่ไม่ใช่ตัวคุณเองเป็นคนทำ จะได้รีบอายัดบัญชีทันที และสามารถเก็บเป็นหลักฐานสำคัญในการตามรอยคนร้ายได้ด้วย
10. ใช้อีเมลแจ้งเตือน
นอกจากบริการ SMS แล้วยังมีอีกหนึ่งทางเลือกที่ทุกคนควรมี คุณควรให้อีเมลกับธนาคารเพื่อแจ้งเตือนทุกธุรกรรมของคุณ
11. Log out ทุกครั้งหลังใช้งาน
ทุกแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางการเงิน อย่าลืม Log out หลังเลิกใช้งาน ออกจากระบบทุกครั้งเพื่อป้องกันการสวมรอยแอบใช้กระเป๋าเงินมือถือของคุณ
หากทำตามนี้ได้ครบทุกข้อ ก็จะสะดวกรวดเร็วและปลอดภัยในยุคสังคมไร้เงินสดกันแล้วล่ะ ร้องเฮ่! ดังๆให้แก่ตัวคุณเองที่อ่านจนจบด้วยนะ ยินดีด้วยคุณไม่เป็นเหยื่อบนออนไลน์แล้ว
Digital Marketing Executive | Aware Group ตั้งใจที่จะส่งมอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถศึกษาร่วมกันได้ ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจด้านเทคโนโลยี มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันนะคะ