พาสเวิร์ดหรือรหัสผ่านที่คุณมีอยู่ปลอดภัยดีแล้วรึยัง? เรื่องของการโจรกรรมผ่านทางออนไลน์หรือภัยทางไซเบอร์สามารถป้องกันได้โดยเริ่มจากตัวเราว่าจะตั้งพาสเวิร์ด (รหัสผ่าน) อย่างไรให้ปลอดภัย? เรามีเทคนิคการตั้งรหัสผ่านมาแนะนำให้คุณ
1. ยิ่งยาวยิ่งดี
ควรตั้งรหัสผ่าน 8-12 ตัวอักษรขึ้นไป เพราะรหัสผ่านที่มีความยาว 10 ตัวอักษรนั้นก็คาดเดาได้ยากกว่ารหัสผ่าน 8 ตัวอักษรถึง 4,000 เท่า! หรืออาจต้องใช้เวลาถึง 4,000 วัน! และถ้าจะเอาแบบแฮ็กยากๆเราแนะนำที่ 14 ตัว ยิ่งยาวยิ่งเดายาก แต่ถ้าคุณตั้งรหัสผ่านแบบ 8888888888888888 เลขแปด 14 ตัวแบบนี้ก็ท่าทางจะไม่รอดฮะ ขอร้องล่ะ…อย่าทำนะ นอกจากนั้นเรื่องความยาวเดี๋ยวนี้หลายๆเว็บกำหนดความยาวรหัสผ่านที่ 8 ตัวอักษรเป็นขั้นต่ำอยู่แล้ว แต่ถ้าให้ปลอดภัยจริงๆ แนะนำว่าตั้งเริ่มต้นที่ 10 ตัวอักษรจะดีกว่า
2. ใช้ทุกอย่างบนแป้นพิม���์อย่างเท่าเทียม
สร้างรหัสผ่านด้วยการใช้คีบอร์ดแบบกระจายๆ ด้วยการผสมตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้งพิมพ์เล็ก/ใหญ่ ตัวเลข เครื่องหมายพิเศษ เข้าด้วยกัน เพราะเมื่อเราใช้แบบนั้นแล้วโอกาสที่จะเดารหัสผ่านถูกจะมีแค่ 1 ในหลาย 100,000,000,000 (แสนล้าน) เช่น การสร้างรหัสผ่าน 1A!2b@3C#4d$ ต่อให้เดาสุ่ม หรือแม้ว่าปัจจุบันจะมีโปรแกรมที่ใช้ช่วยเดาก็ยังถือว่าเข้าถึงได้ยาก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยควรผสานรหัสผ่านด้วยตัวอักษรหลากหลายแบบเอาไว้เสมอ
3. หลีกเลี่ยงข้อมูลส่วนตัว
ไม่ควรใช้ข้อมูลส่วนตัวที่หาได้ง่ายได้แก่ ชื่อ วันเดือนปีเกิด เลขบัตรประชาชน มาตั้งรหัสผ่าน หรือ ข้อมูลส่วนตัวที่หาเจอได้ง่าย เช่น ชื่อแฝงที่เราชอบใช้มาผูกกับรหัสผ่าน ถ้าคุณชอบใช้ชื่อใน Internet ว่า Pamaham ก็เลยตั้งรหัสผ่านว่า “Pamaham123456” อย่างนี้ก็ให้หลีกเลี่ยงไปเลยจะดีกว่า
4. ไม่ใช้ภาษามนุษย์
นี่เราไม่ได้ล้อคุณเล่นนะ เรากำลังจะบอกคุณว่าอย่าใช้คำที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมเลย เพราะคำศัพท์เหล่านั้นถูกนำไปบรรจุลงในโปรแกรมคาดเดารหัสผ่านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ใช่… ทั้งเล่มเลย ต่อให้คำนั้นสะกดยากและยาวแค่ไหน โปรแกรมก็คาดเดาคำได้อยู่ดี เพราะฉะนั้นอย่าตั้งให้พวกแฮ็กเกอร์อ่านได้รู้เรื่องด้วยตัวอักษรธรรมดา
5. หลีกเลี่ยงรหัสยอดแย่แห่งปี
ในแต่ละปีจะมีรายงานว่าผู้คนตั้งรหัสผ่านยอดแย่ว่าอะไรบ้าง อย่างปีที่แล้ว 2017 อันดับ 1 : 123456 อันดับ 2 : password อันดับ 3 : 12345678 อันดับ 4 : qwerty อันดับ 5 : 12345 เอาล่ะ คุณคิดว่ายังไงบ้าง? ใช่… มันแย่จริงๆ เอาเป็นว่าลอง search หาดูได้จาก keyword นี้ “the Worst Passwords of 2017” ปกติผลจะออกช่วงสิ้นปี ลองดูสิว่าคุณเข้าข่ายรหัสผ่านยอดแย่แห่งปีกับเขารึเปล่า?
6. ใช้ความคิดสร้างสรรค์
เอาเป็นว่าคุณชอบอะไร สถานที่ที่คุณจำไม่เคยลืม สื่อบันเทิงที่คุณชอบ เช่น หนังสือ เพลง หรืออะไรก็ตามที่คุณนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ เช่น ถ้าคุณชอบการวิ่งทางวิบาก คุณก็อาจจะตั้งว่า Trail Running แล้วลองพยายามแปลงตัวอักษรเหล่านั้นให้เป็นหลายๆอย่างบนแป้นพิมพ์ เอาให้ครบเหมือนข้อ 2 ก็อาจจะได้ประมาณนี้ Tr@1|Ru^^!^8 หรือลองตั้งชื่อเป็นภาษาไทยที่พิมพ์ด้วยภาษาอังกฤษแล้วใส่เครื่องหมายและตัวเลขเข้าไป เช่น ถ้าคุณชื่อ สมชาย หมายปอง ก็จะได้ l,=kps,kpxv’ ให้ลองบริหารการใช้อักษรตามข้อ 2 ลองปรับเป็น L,=kp,KPxv’1 แค่นี้ก็ปลอดภัยใช้ได้ทีเดียว (แนะนำว่าให้จำด้วยนะเพราะเวลาจะสลับใช้ระหว่างคอมพิวเตอร์มาใช้มือถือ งงเอาเรื่องเลย)
7. อย่าใช้รหัสผ่านซ้ำ
ไม่ควรใช้รหัสผ่านซ้ำเหมือนกันทุกเว็บไซต์ เพราะเมื่อไหร่ที่รหัสหลุดไปอยู่ที่ผู้หวังร้าย ข้อมูลส่วนตัวเราอาจถูกขโมยไปได้ เตรียมร้องเพลงธรณีกรรแสงในเวอร์ชั่นที่คุณชอบได้เลย แต่เราแนะนำว่าให้คุณตั้งให้เป็นเอกลักษณ์ของเว็บนั้นๆเลยจะดีกว่า เช่น รหัสผ่านของเว็บ Gmail เราอาจใช้ตัวย่อมาตั้งต่อจากที่เราเคยตั้งก็ได้ L,=kp,KPxv’1 แล้วต่อด้วย GM คุณจะได้ L,=kp,KPxv’1GM ส่วนของ Hotmail ก็เป็น L,=kp,KPxv’1HM ดีมั้ยล่ะทีนี้ ไม่ซ้ำแต่มีนัยยะให้ระลึกได้
8. ไม่บอกออกไป
ใช่… รักใครชอบใครให้บอก แต่รหัสผ่านของคุณอย่าบอกใค
เอาล่ะ ข้อแนะนำเพียงเท่านี้เราเชื่อว่าหากคุณได้ลองนำไปใช้ แฮ็กเกอร์จะอยากเมินคุณทันที และทำตอนนี้ดีกว่าตอนที่ ‘รู้งี้’ เพราะในอนาคตการดักจับรหัสทำได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา นั่นหมายความแฮ็กเกอร์ทำงานง่ายกว่าโจรขโมยปล้นบ้านหรือร้านทองแน่ๆ และเรื่องเหล่านี้อยู่ในชีวิตจริงของเราทุกคน ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปมันอาจจะเกิดขึ้นกับคุณวันนี้วันพรุ่งนี้ก็ได้ไม่มีใครรู้ จริงมั้ย?
Digital Marketing Executive | Aware Group ตั้งใจที่จะส่งมอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถศึกษาร่วมกันได้ ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจด้านเทคโนโลยี มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันนะคะ