อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว?

อีกไม่นานเรากำลังจะก้าวเข้าสู่ปี 2019 หนึ่งในประเด็นยอดฮิตตลอดมา 3-4 ปีก่อนหน้านี้และจะยังคงน่าติดตามต่อไปก็คือเรื่องของ AI หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เราเชื่อว่าในความหมายทุกคนเริ่มรู้จัก AI ดีมากขึ้นและแน่ใจที่จะบอกว่า รู้ตัวดีว่ามือถือที่ใช้อยู่ก็เป็นส่วนหนึ่งของ AI จริงมั้ย?

 

แม้ว่าประสิทธิภาพของ AI จะมีมากมายเกินกว่าที่บรรยายได้ทั้งด้านสุขภาพ การตลาด การบริการ การสื่อสาร การคมนาคมขนส่ง การผลิต ฯลฯ แต่นั่นก็แค่ส่วนหนึ่งของความสามารถในขณะนั้น และที่โดดเด่นที่สุดคือการประมวลผลของมัน ซึ่งหาก AI ได้ผนวกรวมความสามารถกับสิ่งอื่น เช่น ข้อมูลระดับมหาศาลจาก Big Data, เชื่อมต่อกับ IoT หลากชนิดได้ หรือประมวลผลผ่านเทคโนโลยีสุดล้ำ 5G ที่กำลังมา นี่ยังไม่รวม Quantum Computing ที่กำลังพัฒนากันอยู่อย่างยากเย็นที่เขาบอกว่า ถ้า 2 สิ่งนี้ผนวกรวมกันได้ ทุกอย่างคงเป็นไปได้แทบจะในพริบตาเดียว

*คลิกอ่านเรื่องของ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ ได้ที่นี่

 

หากพูดถึงความสามารถแล้ว อนาคตของ AI ก็ขึ้นอยู่กับเทคโนโลยีอื่นๆที่จะมาช่วยชูความสามารถแท้ๆ ของ AI ให้ไปได้ไกลกว่าเดิม

 

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

  1. 5G และ IoT – การเชื่อมต่อของทุกสรรพสิ่ง

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

 

ระบบการสื่อสารไร้สายถัดไปจาก 4G มีความเร็วอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นกว่าถึง 20 เท่า ความหน่วงลดลง 5 เท่า แถมสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายและสิ่งต่าง ๆ ได้มากขึ้นถึง 1,000 เท่า ทำให้ในอนาคตเราจะสามารถโหลดไฟล์วีดีโอแบบ HD ที่มีไฟล์ขนาด 7.5 GB ได้ภายใน 1 วินาที เสถียรและตอบสนองไวจนเราสามารถควบคุมอุปกรณ์ต่างๆระยะไกลได้แบบไม่ต้องกังวลถึงการดีเลย์ของภาพและเสียง ถ้านำมาใช้ควบคู่กับ IoT หรือ Internet of Things แล้ว AI อาจทำให้รูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนแปลงแบบครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งได้เลยทีเดียว

*คลิกอ่านเรื่องของ IoT หรือ Internet of Things ได้ที่นี่

 

  1. Big Data – สุดยอดข้อมูลมหาศาล

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

แม้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าแต่การสะสมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากข้อมูลใหม่ๆจำนวนมหาศาล ก็จะทำให้ AI มีความสามารถเพิ่มขึ้นไปด้วย ยิ่งพอมี 5G ที่ช่วยความเร็วประมวลผลใน Big data จะกลายเป็นมวยที่ถูกคู่มาก แทบจะเรียกได้ว่า เปลี่ยนโลกทั้งโลกไปสู่อุตสาหกรรมใหม่เลยทีเดียว อนึ่งตัว AI ทำงานได้ผ่านระบบ Algorithm ซึ่งตัวที่เรียนรู้ด้วยตัวเองจริงๆคือ Machine Learning (ML) เป็นเสมือนมันสมองของ AI ฉะนั้นข้อมูลสะสมที่มีอยู่เดิมก็ทำให้ ML ได้โจทย์ใหม่ๆไปเรียนรู้ทำให้มันฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆนั่นเอง

*คลิกอ่านเรื่องของ Big Data ได้ที่นี่
*คลิกอ่านเรื่องของ Machine Learning ได้ที่นี่

 

  1. Quantum Computing – อะตอมจิ๋วพลิกโลก

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

คอมพิวเตอร์ปัจจุบันที่เราใช้กันอยู่ยังคงไม่สามารถแก้ปัญหาซับซ้อนบางอย่างได้ ในระยะหลังมีการคิดค้น Quantum Computing ระบบคอมพิวเตอร์ที่เปลี่ยนจากการทำงานบนแผงวงจรมาใช้คุณสมบัติพิเศษของอะตอมแทน แก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้เร็วกว่า แม้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์ที่ใช้งานเฉพาะทางโดยเฉพาะงานที่ต้องการพลังและความรวดเร็วในการคำนวณอย่างสูงสุดเท่านั้น) ที่ประมวลผลเร็วที่สุดใช้เวลาถอดรหัส 1,000 ปี แต่คอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมจะใช้เวลาแค่ 3 นาที ปัจจุบันเทคโนโลยีนี้เริ่มชัดเจนแล้วเหลือแค่การทำให้ใช้ได้จริง ลองนึกภาพว่าถ้าพลังประมวลผลรวดเร็วขนาดนี้ กระบวนการเรียนรู้ของ AI จะรุดหน้าขนาดไหน เชื่อว่าสิ่งนี้จะถูกนำมาใช้พัฒนา AI เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดียิ่งขึ้น

 

  1. SingularityNET – ตลาดซื้อขาย-แลกเปลี่ยน-ลงทุน AI

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

ข้อนี้ไม่เชิงเป็นเทคโนโลยีโดยตรงแต่เป็นแพล็ตฟอร์มที่เอื้อต่อ AI มากนั่นคือ SingularityNET ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ AI ที่มีชื่อว่า Sophia ซึ่งเป็น AI แรกของโลกที่ได้เป็นพลเมืองสัญชาติซาอุดิอาระเบีย และปัจจุบันเป็น Marketplace หรือแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ผู้ที่ต้องการเข้าถึงการใช้งาน AI มาพบกับผู้พัฒนา เพื่อให้เกิดการซื้อขายแลกเปลี่ยนรวมถึงการพัฒนาต่อยอด (เช่น ให้ AI เรียนรู้จาก AI อีกตัวหนึ่ง) แพลตฟอร์มนี้ทำให้เราเห็นว่า AI ไม่ใช่เรื่องเข้าถึงยาก ช่วยให้ผู้มีไอเดียตามหาผู้สร้างสรรค์ AI จนเจอและมีแหล่งเงินลงทุนให้พัฒนาจนแล้วเสร็จได้ตามความต้องการ คิดดูสินี่แทบจะครบความต้องการของทุกภาคส่วนแล้ว ทำไมแสนยานุภาพของ AI จะเกิดขึ้นไม่ได้

 

ตลาดของ AI กำลังเติบโต

 

ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ได้ช่วยผลักดันให้นานาประเทศปรับเปลี่ยนกรอบความคิดในการเตรียมตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล แค่ส่องตัวเลขคร่าวๆของสิ้นปี 2018 ��ี้ การเติบโตของตลาด AI มีมูลค่าสูงถึง 1.2 ล้านล้าน USD หรือราวๆ 38.4 ล้านล้านบาท ยังมีการคาดการณ์อีกด้วยว่าจะมีมูลค่าสูงขึ้นไปจนแตะ 3.9 ล้านล้าน USD หรือราวๆ 124.8 ล้านล้านบาทในปี 2022 แม้แต่ John-David Lovelock ผู้ดำรงตำแหน่ง Research Vice President แห่ง Gartner ได้ระบุว่า AI นี้ถือเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาพลิกโฉมของตลาดต่างๆ ในอีก 10 ปีข้างหน้านี้ ด้วยความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในเทคโนโลยีประมวลผล รวมไปถึงปริมาณ ความเร็ว และความหลากหลายของข้อมูล

 

นอกจากนี้รายงาน Global Connectivity Index 2018 ของ Huawei (คลิกเพื่อดูรายงานได้ที่นี่) ยังพบด้วยว่า การจะใช้เทคโนโลยี AI ในสเกลใหญ่ให้ได้ประสิทธิภาพดีนั้น ประเทศทั้งหลายต้องมีความพร้อมในองค์ประกอบ 3 ประการ ได้แก่ ศักยภาพในการประมวลผล, Data ที่เป็นหมวดหมู่ และ Algorithm ปัจจุบันประเทศในกลุ่ม Frontrunner หรือประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดใน 3 กลุ่มประเทศตามรายงาน GCI นั้น พัฒนาแซงหน้าประเทศในกลุ่ม Adopter และกลุ่ม Starter ในทั้ง 3 องค์ประกอบ เนื่องจากประเทศกลุ่มนี้มีโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ที่ล้ำหน้ามากกว่า ทว่าปัญหาความท้าทายสำคัญของทั้งสามกลุ่มประเทศในรายงาน GCI ก็คือการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนา AI ซึ่งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องคิดทบทวนเรื่องระบบการศึกษาเสียใหม่ให้สอดคล้องกับสถานที่ทำงานในอนาคตที่จะถูกกำหนดโดย AI

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

 

การแบ่งระดับ AI ตามความฉลาดและความสามารถ 

 

แม้ว่าปัจจุบันนี้ AI ยังคงเป็นสิ่งที่เรายังต้องป้อน Data คำสั่งไว้แก้ปัญหาสำหรับหลายๆ ปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ยิ่งเราป้อนกรณีตัวอย่างมากเท่าไร มันก็จะยิ่งทำงานได้ดีมากขึ้นเท่านั้น แต่ก็ทำหน้าที่ได้แค่อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ในการแบ่งระดับตามฉลาดและความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ เราสามารถแบ่งได้ออกเป็น 3 ระดับ คือ

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

ระดับที่ 1) Artificial Narrow Intelligence (ANI)

 

บางครั้งเราเรียกว่า Weak AI ที่พอจะเลียนแบบพฤติกรรมมนุษย์ได้ ในระดับนี้ AI จะมีความสามารถและความเชี่ยวชาญในเฉพาะด้าน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ AlphaGo ที่สามารถเอาชนะเซียนโกะมือหนึ่งของโลก แต่ให้ไปแข่งปิงปอง หรือแข่งคิดคำนวณค่าสูตรต่างๆไม่สามารถทำได้

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

ระดับที่ 2) Artificial General Intelligence (AGI)

 

บางครั้งเรียกว่า Strong AI หรือ Human-Level AI ในระดับนี้ AI จะมีความสามารถและความฉลาดเทียบเท่ามนุษย์ ทั้งความสามารถการคิดเชิงเหตุผล การวางแผนและแก้ปัญหา การคิดในเชิงซับซ้อน และสามารถเรียนรู้ได้จากประสบการณ์ แต่ปัจจุบันยังคงห่างไกลจากความสามารถในการเชื่อมโยงความรู้หลายสาขาหรือทำงานได้เกือบทุกอย่างเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

ระดับที่ 3) Artificial Superintelligence (ASI)

 

Nick Bostrom นักปรัชญาและนักคิดชั้นนำด้าน AI ได้ให้นิยามของ Superintelligence ไว้ว่า “เครื่องจักรที่มีสติปัญญาและความสามารถเหนือกว่าสมองมนุษย์ที่ฉลาดที่สุดในเกือบทุกสาขา รวมถึงความคิดเชิงสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ ความรู้เชิงภูมิปัญญา และทักษะทางสังคม เขาเรียกมันว่า “เครื่องจักรทรงภูมิปัญญา (Machine Superintelligence)” เจ้า ASI นี้เองที่ Larry Page, Elon Musk, Mark Zuckerberg, Jeff Bezos ต่างให้ความสำคัญกับประเด็นนี้มาก ผิวเผินแล้วเรารู้แค่ว่าฉลาดกว่ามนุษย์ แต่รู้หรือไม่ว่ามันสามารถพัฒนาให้ตัวเองฉลาดขึ้นไปได้เรื่อยๆ และในท้ายที่สุดมันจะทำสิ่งมนุษย์ไม่เข้าใจว่ามันทำได้ยังไง (เหมือนที่ลิงไม่รู้ว่ามนุษย์สร้างสิ่งต่างๆขึ้นมาได้อย่างไร) เจ้าสิ่งนี้เองที่ทุกคนทั้งหวาดกลัวทั้งสนใจใคร่รู้ เพราะมันสามารถจะทำให้มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์ที่สูญสิ้นไปจากจักรวาลหรือกระทั่งทำให้มนุษย์เป็นอมตะก็อาจเป็นไปได้

 

เราควรกังวลถึงความสามารถของ AI หรือไม่?

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

 

‘A.I. is far more dangerous than nukes.’หนึ่งประโยคสุดอิมแพคจาก Elon Musk ที่ทำให้ทั่วโลกต้องหยุดฟังในงาน The South by Southwest Tech Conference in Austin, Texas ในเดือนมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา ในฐานะที่ Musk เป็นเจ้าของ SpaceX และ Tesla และอีกหลากหลายบริษัท เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอิทธิพลกับวงการเทคโนโลยีของโลก ยังเคยถึงกับเอ่ยปากว่า “ในอนาคต AI จะอันตรายกว่านิวเคลียร์” เพราะในเรื่องของความสามารถในการประมวลผลของมันเองถือว่าทำได้ดีกว่ามนุษย์มาก ในฐานะคนที่คลุกคลีอยู่กับ AI สิ่งที่เขากังวลก็คือ เมื่อไหร่ที่ AI ถูกพัฒนาจนก้าวหน้าไปมากๆจนถึงจุดที่มันไม่ต้องพึ่งพามนุษย์แล้ว เมื่อนั้นจะกลายเป็นภัยกับมนุษย์ เพราะการเรียนรู้ของมันเป็นไปได้รวดเร็วแบบร้อยพันเท่าทวีคูณและความสามารถในการเรียนรู้ของมันแทบจะไม่มีใครรู้เท่าทันด้วย

 

ในกรณีที่ AI เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองโดยที่เราอาจตามไม่ทัน มีอีกตัวอย่างที่น่าสนใจจากกรณีของ Facebook ที่เมื่อปี 2017 ได้ตัดสินใจปิดระบบ AI ในศูนย์วิจัย Facebook Artificial Intelligence Research (FAIR) หลังจากพบว่ามันเริ่มพัฒนาภาษาของตัวเองมาสื่อสารกันแทนภาษาอังกฤษ เรื่องนี้มีอยู่ว่า

 

AI นามว่า Bob และ Alice กำลังทดสอบและฝึกฝนทักษะการเจรจาต่อรอง โดยสร้างสถานการณ์จำลองให้มีของ 3 อย่าง: หนังสือ หมวก ลูกบอล
โดย Bob และ Alice ให้ค่าของสิ่งของแต่ละอย่างไม่เท่ากัน ทั้งสองตัวจะต้องเจรจาต่อรองกันเพื่อให้ตัวเองได้รับสิ่งของที่มีค่ามากที่สุด ซึ่งผลที่ได้ก็อยู่ในเกณฑ์น่าประทับใจเพราะทั้งคู่สามารถต่อรองได้อย่างเป็นธรรมชาติ จนมนุษย์ส่วนใหญ่ที่เคยเจรจาต่อรองกับทั้งคู่ไม่รู้ว่าตัวเองคุยอยู่กับ AI แต่ล่าสุดก็เกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้น เมื่อ Bob และ Alice เริ่มสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษแบบแปลกๆ ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ โดยผิวเผินการสนทนานั้นกลายเป็นประโยคที่ดูเหมือนไม่มีความหมายใดๆ แต่แท้จริงแล้วประโยคเหล่านี้สามารถถอดรหัสออกมาเป็นการสื่อสารที่มีความหมายได้ซึ่งเข้าใจกันระหว่าง Bob และ Alice เท่านั้น

 

อนาคตของ AI ก้าวหน้าหรือน่ากลัว

 

ตัวอย่างที่ Bob พูดคือ “i i can i i i everything else,”

Alice ตอบว่า “Balls have zero to me to me to me to me to me to me to me to me to,”

และตอนนั้นดูเหมือนว่าทีมวิจัยของ Facebook ยังไม่สามารถถอดความหมายของภาษานี้ได้สมบูรณ์ 100% แต่พวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่ Bob พูด คือ “ฉันจะเอา 3 อัน ส่วนที่เหลือให้เธอหมดเลย” แม้ว่ายังไม่เกิดเรื่องใหญ่ขึ้นเพราะการทดสอบ AI นี้ถูกดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่อาจเป็นหลักฐานที่บ่งชี้ว่า AI จะพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้สูงเกินกว่าที่มนุษย์คาดคิด หากปล่อยให้มีการพัฒนาโดยไม่ได้มีการควบคุม ไม่แน่ในอนาคตมันอาจจะตัดขาดจากมนุษย์และหลุดจากการควบคุมของเราในที่สุด

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความกังวลที่เกิดขึ้นกับ AI ในระดับที่เราพอจะคาดการณ์ได้ เราอยู่ในช่วงเวลาที่เทคโนโลยีทุกอย่างมาบรรจบในเวลาเดียวกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน คุณคิดว่า AI เป็นตัวแปรสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างแท้จริงหรือไม่? และนอกเหนือจากนี้คุณคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้างหาก AI ถูกพัฒนาไปจนสุดทาง เราจะยังคงดำรงอยู่หรือไม่?

 

อ้างอิงจาก:

www.huawei.com

www.cnbc.com

www.theepochtimes.com

www.techmoblog.com

Tags

What do you think?

Related articles