Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR)
คือเทคโนโลยีโลกเสมือนที่ออกแบบมาเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ให้แก่ผู้ใช้โดยมีจุดประสงค์แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะการใช้งาน และในฐานะผู้บริโภค AR และ VR ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันโดยเราไม่ทันรู้ตัว อีกทั้งธุรกิจต่างๆเริ่มให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้งานมากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีโลกเสมือนกลายเป็นที่น่าจับตามองจากหลายฝ่าย ในบทความนี้เราจะมาทำความรู้จักและเรียนรู้ความแตกต่างของ AR และ VR รวมถึงการนำเทคโนโลยีโลกเสมือนไปใช้งานจริงในโลกธุรกิจ
Augmented Reality (AR)
Augmented Reality หรือ AR คือการรวมวัตถุเสมือนเข้ากับสภาพแวดล้อมจริงที่อยู่รอบตัวเรา โดยวัตถุเสมือนนี้อาจเป็นได้ทั้งภาพ วิดีโอ หรือเสียงที่ประมวลผลมาจากคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ เช่น มือถือ หรือแท็บเล็ท เทคโนโลยี AR จึงไม่ใช่การสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นมาใหม่ แต่เป็นการพยายามสอดแทรกเทคโนโลยีเข้าไปในสภาพแวดล้อมจริง
ยกตัวอย่างเช่น แอพพลิเคชั่นเกม Pokemon Go ที่เปิดตัวครั้งแรกในปี 2016 เป็นเกมที่ให้ผู้เล่นทั่วโลกได้ตามหาและจับโปเกม่อนในระแวกใกล้เคียง เพียงผู้เล่นเปิดใช้งานกล้องมือถือหรือแท็บเล็ทแล้วสแกนตามจุดต่างๆในแผนที่ที่ระบุตำแหน่งของโปเกม่อน และเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมนี้ค่ายซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่อย่าง Microsoft ได้เปิดตัวเกมส์คล้าย Pokemon Go ชื่อ “Minecraft Earth” นับว่าเป็นอีกก้าวของการนำเทคโนโลยี AR มาใช้ในสนับสนุนเกมโด่งดังที่เรารู้จักอย่าง Minecraft ให้เป็นเกมที่สามารถพกพาไปเล่นได้ทุกที่
นอกจากนี้ AR ยังถูกนำมาใช้ในโซเชียลมีเดียแอปพลิเคชั่นอย่าง Instagram, Facebook และ Snapchat โดยการสร้างฟีเจอร์ต่างๆให้ผู้ใช้งานได้ทดลองตกแต่งใบหน้า เพิ่มมงกุฎ เปลี่ยนสีลิปสติก หรือแม้กระทั่งแต่งหน้าเป็นเพศตรงข้าม สิ่งเหล่านี้นับได้ว่าเป็น AR ในชีวิตประจำวันที่เรารู้จักและคุ้นชิน
ในแง่ของธุรกิจ AR ก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน ธุรกิจขนาดใหญ่หลายเจ้าใช้ AR ในการช่วยเสริมประสบการณ์ให้กับลูกค้าในร้านค้าปลีกแบบ Brick and Mortar, ใช้เป็นช่องทางในการทำโฆษณารูปแบบใหม่ รวมถึงช่วยในอุตสาหกรรมการผลิตและซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ
สำหรับธุรกิจเสื้อผ้าที่มีหน้าร้านอย่าง Topshop และ Uniqlo ได้ใช้ AR เป็นส่วนช่วยในการสร้างเสริมประสบการณ์ในการช้อปปิ้ง โดยการสร้างห้องลองเสื้อผ้าเสมือนเพื่อเอาใจขาช้อปทั้งหลายที่ใช้เวลานานหลายชั่วโมงในการเลือกซื้อเสื้อผ้า ผู้ใช้งานสามารถลองเสื้อผ้าเสมือนที่สร้างขึ้นโดย AR เปลี่ยนสไตล์ เปลี่ยนสี หรือไซส์ นอกจากธุรกิจเสื้อผ้าแล้ว บริษัทเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ระดับโลกอย่าง IKEA ยังได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น “IKEA Place” พร้อมสโลแกน “Try before you buy.” ให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน ซึ่งแอปพลิเคชั่นดังกล่าวได้รวบรวมสินค้ากว่า 2,000 รายการเพื่อให้ผู้ใช้งานได้ลองวัดขนาดและจัดวางเฟอร์นิเจอร์ในบ้านก่อนเลือกซื้อจริง ทั้งนี้เพื่อลดความผิดพลาดในการเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ กล่าวได้ว่า IKEA สามารถใช้ AR เป็นสื่อกลางช่วยให้แบรนด์เข้าถึงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากขึ้น
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมโฆษณาได้หันมาสนใจทางเลือกใหม่ในการโฆษณาโดยใช้เทคโนโลยี AR มากขึ้น ครีเอทีฟในปัจจุบันต่างเสาะหาลูกเล่นใหม่ๆในการใช้ AR เพื่อสื่อสารข้อมูลไปยังผู้บริโภคโดยเน้นการสร้างจุดใจและเพิ่มการมีส่วนร่วม ตัวอย่างเช่น Burger King ประเทศบราซิลได้ทำดิจิทัลแคมเปญ “Burn That Ad.” เชิญชวนให้ผู้บริโภคใช้กล้องโทรศัพท์มือถือถ่ายไปที่ Print ad ที่ติดอยู่ทั่วเมืองแล้ว “เผามันซะ” และหลังจาก AR ได้ทำหน้าที่เผาป้ายโฆษณาแล้วในจอโทรศัพท์มือถือจะแสดงข้อความให้ไปรับ Whopper ฟรีที่สาขาของ Burger King
นอกจากนี้ ธุรกิจที่เกียวข้องกับการใช้งานเครื่องจักรกลหรือชิ้นส่วนต่างๆที่ยากต่อการอธิบายและต้องใช้เวลาในการเรียนรู้สามารถใช้ AR ประกอบในการฝึกอบกรมพนักงาน เพราะ AR ทำให้เรามองเห็นชิ้นส่วนเหล่านี้ในรูปแบบสามมิติ สามารถย่อ หรือ ขยายรายละเอียดต่างๆได้ ทำให้ลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้งานและอุปกรณ์เหล่านี้
Virtual Reality (VR)
ขณะที่ลักษณะการใช้งานของเทคโนโลยี AR คือการพยายามเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในสิ่งแวดล้อมของผู้ใช้งาน ส่วน Virtual Reality หรือ VR กลับพยายามสร้างสภาพแวดล้อมเสมือนขึ้นมาใหม่เพื่อตัดขาดผู้ใช้งานออกจากโลกความจริง โดยสิ่งแวดล้อมเสมือนนี้อาจเป็นได้ทั้งภาพและเสียง และอาจดูคล้ายหรือแตกต่างกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง การใช้งานเทคโนโลยี VR จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ ซึ่งก็คือ VR Headset เพื่อเข้าถึงโลกเสมือนที่สร้างขึ้นจากคอมพิวเตอร์
และเนื่องจาก VR มีคุณสมบัติเด่นในการสร้างสภาพแวดล้อมเสมือน อุตสาหกรรมเกมในปัจจุบันจึงหันมาให้ความสนใจและใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาเกม VR เพื่อส่งมอบประสบการณ์การเล่นเกมแบบใหม่ให้กับผู้บริโภค โดยทั่วไปแล้วการเล่นเกม VR จะต้องใช้อุปกรณ์ VR Headset ซึ่งเรทราคาก็จะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจในการใช้งาน เมื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์นี้กับคอมพิวเตอร์หรือแล็ปท็อป ผู้เล่นก็จะสามารถเริ่มเกมได้ในฐานะตัวละครในเกม และเมื่อผู้เล่นเปลี่ยนท่าทางตัวละครในเกมก็จะขยับท่าทางด้วย และในปัจจุบัน เกม VR ได้ก้าวไปอีกขั้นเมื่อมีการนำเทคโนโลยี eye-tracking มาใช้เพื่อตรวจจับการเคลื่อนไหวของสายตาผู้เล่น และแสดงมุมมองให้ปรากฏบนจอภายใน Headset
เช่นเดียวกับการใช้ AR ในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ความชำนาญในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีโดยเฉพาะ VR ถูกนำไปใช้ในการฝึกอบรมพนักงาน เนื่องจากเป็นวิธีที่คุ้มค่าสำหรับการใช้งานในระยะยาว และสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ ในธุรกิจสุขภาพ หมอและพยาบาลสามารถใช้ VR ในการฝึกซ้อมการผ่าตัดและรักษาผู้ป่วยซึ่งเป็นหุ่นเสมือนที่ VR สร้างขึ้น
และในธุรกิจการบินที่ต้องมีการซ่อมแซมชิ้นส่วนและฝึกการควบคุมเครื่องบิน VR ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการฝึกอบรมพนักงาน Jasoren บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาซอฟต์แวร์ AR และ VR กล่าวว่าการศึกษาและเรียนรู้ชิ้นส่วนของเครื่องบินจำเป็นต้องใช้เวลาศึกษาอย่างละเอียด และด้วยชิ้นส่วนของเครื่องบินมีราคาสูง การเรียนรู้ด้วย VR จึงเป็นที่นิยม ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อชิ้นส่วนและผู้ใช้งาน อีกทั้งผู้ใช้งานยังสามารถใช้เวลาศึกษาและฝึกฝนได้ในเวลาที่ไม่จำกัด นอกจากนี้ นักบินสามารถใส่ VR headset เพื่อจำลองการบังคับเครื่องบินในห้องบังคับการ เรียนรู้วิธีการบิน รวมถึงฝึกการเผชิญหน้ากับเหตุอันตรายที่คาดไม่ถึง
สุดท้ายนี้ AR และ VR จึงไม่ใช่สิ่งใหม่สำหรับเราอีกต่อไป แต่หากกำลังจะกลายเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งานมากขึ้นในธุรกิจต่างๆ ดังนั้นการเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเหล่านี้และการนำมาใช้จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ชีวิตในโลกอนาคต
Digital Marketing Executive | Aware Group ตั้งใจที่จะส่งมอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถศึกษาร่วมกันได้ ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจด้านเทคโนโลยี มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันนะคะ