กรกฎาคม 22, 2019
แนะนำวิธีการเก็บเงินสไตล์นักเศรษฐศาสตร์ที่คุณเองก็ทำได้
วันนี้จะมาแชร์วิธีการเก็บเงินของเราด้วยสไตล์นักเศรษฐศาสตร์กันนะคะ
หลายคนอาจจะเห็นสูตรลับการออมมามากมาย แต่กลับทำไม่สำเร็จเสียที ตั้งแต่การแบ่งใส่ขวดแต่คุณแม่มักมาแกะออกไป หรือการหยอดใส่กระปุกก็เจอน้องสาวทุบไป หรือเทคนิคการเก็บแบงค์ห้าสิบแต่ดันเผลอทำกระเป๋าใบนั้นหาย หรือหลายคนก็พยายามออมเท่าที่จะทำได้ แต่ส่วนใหญ่ก็มักได้ผลลัพธ์เท่ากับ 0 เพราะเราใช้เงินด้วยการ “ให้รางวัลตัวเอง” ทุกเดือน ทุกวัน หรือแม้กระทั่งทุกเวลา เมื่อไม่มีใครมาบังคับหรือสร้างวินัยในการเก็บออม เราก็มักเผลอใจเป็นครั้งคราว และอาจล้มเลิกความคิดไปเลย แต่วันนี้เราขอเสนอวิธีการเก็บเงินแบบสัดส่วน 10:10:80 เพื่อที่จะทำตามกันได้ง่ายๆ
ขั้นแรก แยกเงินออกเป็นสามกอง ในอัตราส่วน 10:10:80
10 % แรก
โดยที่ 10% แรกตัดเข้าเงินฝากประจำที่เคยฝากไว้ หรือเปิดบัญชีเงินฝากประจำแบบสะสมทรัพย์ที่ตัดอัตโนมัติไปเลย ทุกธนาคารมีให้เลือกเงินฝากตั้งต้นตั้งแต่ 500 บาท ตัดไปอย่าเสียดาย อย่าคิดว่าต้องเอาไปจ่ายอะไรก่อน ตัดไปเลย 10% ของเงินเดือนนั้น เงินเข้าวันที่ 25 ก็ตัด 25 เงินเข้าวันที่ 31 ก็ตัดวันที่ 31 อย่ารีรอกันนะ
10% ที่สอง
10% ต่อไป เป็นเงินที่จะฝากลงไปในเงินฝากออมทรัพย์ แน่นอนว่าสามารถถอนออกมาใช้ได้ แต่อยากให้แยกจากบัญชีเดิมๆที่เราใช้ ถ้าห้ามใจไม่ไหวก็ขอยืมชื่อให้สักคนให้ไปเปิดบัญชีให้ (ความจริงแล้วผิดกฏหมายนะ แต่ถ้าลองให้คุณแม่หรือคุณพ่อ หรือญาติพี่น้องที่เรามั่นใจว่าเขาจะไม่เอาเงินเราไปใช้เล่นๆ ก็ขอให้เขาช่วยเปิดเพื่อเราจะฝากได้อย่างเดียว ถอนไม่ได้ถ้าไม่มีการยินยอมจากเขา) ทางที่ดีเปิดชื่อตัวเองแต่ไม่ทำบัตร ATM ก็ดีเช่นกัน เพื่อจะได้ไม่ถอนพร่ำเพรื่อ
80% ที่เหลือ
เอาไว้ใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าน้ำค่าไฟ บัตรเครดิต กินข้าว ค่ารถ ค่าไปเที่ยว ฯลฯ พยายามลดหนี้ให้ได้มากที่สุด และพยายามผ่อนบัตรเครดิตหรือเงินกู้ฉุกเฉินหรือกลุ่ม Personal Loan ที่มีดอกเบี้ยบวกค่าธรรมเนียมนู่นนี่สูงถึง 28% ให้หมดไปก่อน หากไม่พอ อย่าได้คิดจะไปแตะเงินส่วน 20% แรกนั้นเชียว ลองคิดหาทางเพิ่มรายได้ หรือลดรายจ่ายแบบจริงจังๆ เช่น เปิดเพจขายของเล่นเด็ก ขายอาหารคลีนที่ออฟฟิศ รับหิ้วสินค้าแบรนด์ช่วงวันหยุดหรือตอนเย็น เพราะหากว่ากิเลสคุณยังเยอะอยู่ คุณก็ควรหาทางเพิ่มรายได้เสริมเข้าไปด้วย มิฉะนั้น คุณควรต้องเลิกความคิดที่จะซื้อลิปสติกแท่งที่ 20 หรือชุดแต่งรถ หรืออาจจะต้องเอาของสะสมที่คุณมีนำไปขายในที่สุด
หากคุณมีโอกาสทำงานกับบริษัทที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ คุณอาจจะเลือก 10% แรกในกองทุนฯนั้น อีก 10% ไปฝากกับอีกธนาคารหนึ่ง และค่อยนำเงินที่เหลือมาบริหารเองก็ได้นะคะ
เลือกเอาระหว่างเก็บและการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของเงิน
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายที่สุด จริงๆแล้วมีวิธีคิดเพื่อหาจำนวนปีที่จะทำให้เงินของคุณจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าได้นะ เพราะมันขึ้นอยู่กับอัตราผลตอบแทนของการลงทุนนั้นๆ เช่น ถ้าคุณฝากเงินโดยมีอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 0.5% สูตรคำนวณง่ายๆที่นักเศรษฐศาสตร์ใช้คือ สูตร 72 ด้วยการ เอา 72 ตั้งแล้วหารด้วยอัตราผลตอบแทน ในที่นี้เงินฝากของเราจะเพิ่มเป็นสองเท่าในอีก 72/0.5 = 144 ปี (แต่นั่นนานไปนิด) ตรงนี้สรุปได้ว่า การฝากงินจึงเป็นแค่การรักษาเงินไว้เท่านั้นเอง แต่ผลตอบแทนเท่านี้ไม่สามารถทำให้คุณรวยได้ ในทางกลับกัน หากคุณลงทุนในหุ้นหรือกองทุนรวมดีๆสักชนิดหนึ่ง อาจจะได้รับผลตอบแทน 5% ต่อปี (ไม่รวมหุ้นปั่นและปรากฏการณ์เทขาย) เงินของคุณก็จะเพิ่มเป็นสองเท่าเมื่อมีการลงทุนในนี้ซ้ำๆเป็นเวลา 72/5 = 14.4 ปี
สุดท้ายแล้วนักเศรษฐศาสตร์จึงไม่ได้บอกให้คุณเก็บ 80 แล้วใช้จ่ายแค่ 20 แทน แต่เพราะพวกเขาต้องการให้คุณได้ใช้ชีวิต ใช้เงิน และมีเหลือเพื่อเก็บออม
หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้คุณมีความรู้สึกอยากเก็บเงินขึ้นมาบ้างนะคะ – เริ่มวันที่ดีที่สุด อย่าพยายามเลื่อนไปวันอื่นนะคะ
- Reverse Mentoring เพราะเราทุกคนให้ความรู้และมุมมองที่แตกต่างกันได้ - มิถุนายน 20, 2024
- Certificate ที่น่าสอบเพื่อตอบโจทย์การทำงานสาย IT ในปี 2024 - มิถุนายน 14, 2024
- อยากเป็น Software Tester / QA Tester ต้องเริ่มอย่างไร - มกราคม 8, 2024
- สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน เราช่วยคุณเตรียมตัวได้นะ - ธันวาคม 7, 2023
- อยากเพิ่มทักษะให้ตัวเอง – ตัดสินใจอย่างไรระหว่างเลือกเรียนภาษาที่สามหรือภาษาคอมพิวเตอร์ ? - กุมภาพันธ์ 7, 2020
- วิธีเลือกกองทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยง - มกราคม 13, 2020
- บริษัทคัดเลือกผู้สมัครอย่างไร – ทำไมบริษัทไม่รับผมเข้าทำงาน? - กันยายน 23, 2019
- ไม่ใช่แค่คุณลุงคุณป้า แต่คนทำงานอย่างเราเองก็ต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุด้วยเช่นกัน - สิงหาคม 14, 2019
- แนะนำวิธีการเก็บเงินสไตล์นักเศรษฐศาสตร์ที่คุณเองก็ทำได้ - กรกฎาคม 22, 2019
- ประโยชน์ในการเป็นพนักงาน IT Outsource แบบสัญญาจ้าง (ตอนที่ 3) - พฤษภาคม 10, 2019