กันยายน 23, 2019
บริษัทคัดเลือกผู้สมัครอย่างไร – ทำไมบริษัทไม่รับผมเข้าทำงาน?
ในขณะที่เพื่อนๆได้งานกันไปหมดแล้ว น้องๆนักศึกษาบางคนอาจเกิดสถานการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกว่า “ทำไมผมยังไม่ได้งานทำ?” หรือ “ทำไมเขาไม่เลือกผม?”
วันนี้เราจะมาพูดถึงหลักการสำคัญในการรับคนของแทบทุกบริษัท และมาตรฐานที่ผู้สมัครควรไปให้ถึง ก่อนที่จะเข้าสัมภาษณ์ คุณมีโอกาสเพียงครั้งเดียวที่จะเจอกับผู้สัมภาษณ์ “คุณคิดว่าเขาจะประทับใจในตัวคุณมั้ย?”
เราจะแบ่งเป็นสองประเด็นหลัก คือ บริษัทคัดเลือกผู้สมัครอย่างไร? กับ “ทำไมบริษัทไม่รับผมเข้าทำงาน?”
บริษัทคัดเลือกผู้สมัครอย่างไร?
ในฐานะที่เป็น Recruiter เรามักจะเจอคำถามนี้บ่อยๆ และหลายต่อหลายครั้งก็เต็มไปด้วยอารมณ์ ผสมความน้อยใจ ปนความสับสน เช่น “เราก็น่าจะผ่านทุกอย่างนะ แต่ทำไม?” “ทำไมเขาถึงมองไม่เห็นความสามารถของผม” เป็นต้น เราจะมาคุยถึงเรื่องนี้กันว่าเราคัดกรองใบสมัครกันอย่างไร
อันดับแรก เรามักจะเลือกผู้สมัครตามเนื้อหาที่มีใน Resume แต่หากคุณคิดว่า “ผมมีข้อดีมากมายเกินกว่าที่จะระบุไว้ในนั้นได้หมด” คุณควรใส่รายละเอียดคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการหางาน เช่น สร้างโปรไฟล์ให้น่าสนใจด้วยทักษะต่างๆ แนะนำบทความนี้เพื่อช่วยในการเขียนเรซูเม่ให้น่าสนใจ (Hard Skill VS Soft Skill สำหรับคนทำงานยุคนี้ – นำเสนออย่างไรบน Resume ?) หากมีรางวัล เกียรติบัตร ผลสอบในด้านต่างๆ สามารถนำมาเพื่อช่วยในการประกอบพิจารณาได้นะคะ นอกจากนี้ จำนวนปีของประสบการณ์ที่เป็นมาตรฐาน เนื้อหาของการทำงาน ควรระบุในเรซูเม่ให้ชัดเจน เช่น หากคุณทำงานด้าน SAP Consultant ควรระบุสิ่งที่ทำได้อย่างชัดเจน ด้วยข้อความ Able to implement SAP FICO Module เพื่อให้ Recruiter ได้ทราบว่าคุณมีความสามารถสำหรับตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะในการ implement SAP FICO โดยเฉพาะ เป็นต้น
ในขณะเดียวกัน หากคุณกำลังเริ่มต้นสายอาชีพนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือนักวิเคราะห์สายการเงิน หรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเงินและการลงทุน การที่คุณได้รับคุณวุฒิทางด้านวิชาชีพการเงินและการลงทุนระดับสากล หรือ CFA ก็จะช่วยให้โปรไฟล์ของคุณได้รับความสนใจมากขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้คุณควรศึกษาว่า “การสอบ” ใดสำคัญต่อสายอาชีพของคุณด้วย เพราะไม่ใช่ทุก “การสอบ” จะนำมาคำนวณว่า คุณมีความสามารถในด้านที่บริษัทกำลังรับอยู่
หลังจากเลือกใบสมัครมาจำนวนหนึ่งแล้ว เราจะนำมาคัดกรองอีกรอบตามทักษะย่อยๆ และจำนวนประสบการณ์แบบละเอียด เช่น บริษัทเปิดรับ Software Engineer (.NET) อาจจะมีผู้สมัครที่เป็น VB.NET และ C#.NET ให้คัดเลือก หรือจำนวนปีของประสบการณ์ที่คละเคล้ากันไป เช่น เป็น IT Support มา 2 ปี และเป็น Programmer อีก 1 ปี หากบริษัทรับคนที่มีประสบการณ์การเขียนโค้ด 3 ปี resume ของผู้สมัครรายนี้ก็จะไม่ถูกนำมาพิจารณา เป็นต้น
ถ้าคุณคิดว่า คุณน่าจะมีอะไรผิดพลาด บ่อยครั้งก็จะมี HR ที่มักตรวจตราการใช้คำผิด เพราะฉะนั้นคุณไม่ต้องน้อยใจไป ยังมีโอกาสอีกมากมายที่ HR บางที่ไม่ได้คิดเล็กคิดนน้อยเรื่องนั้น แต่เวลาผู้สมัครเขียนในประวัติของตัวเองว่า Fluent in English (เชี่ยวชาญในการใช้ภาษาอังกฤษ) แต่สะกดผิดแทบทุกบรรทัดหรือใช้แกรมม่าไม่ถูกต้อง จุดบกพร่องเหล่านี้ก็ชวนให้เราไม่เชื่อในตัวเขาเหมือนกัน และใบสมัครใบนั้นก็จะได้รับความสนใจน้อยลง
ทำไมบริษัทไม่รับผมเข้าทำงาน หรือทำไมดิฉันถึงไม่ได้งาน?”
ส่วนนี้เราตอบได้ทันทีว่า เพราะการสัมภาษณ์ที่ทำให้รู้ว่า “เราเข้ากันไม่ได้” การสัมภาษณ์ มีความสำคัญแค่ไหนกัน เพียง 1–2 ชั่วโมงจะทำให้รู้จักกันได้ดีเชียวหรือ?
คำตอบ คือ เปล่าเลย การสัมภาษณ์ ไม่ได้ทำให้เรารู้จักคุณทุกอย่าง แต่ทำให้เรารู้ว่า คุณน่าประทับใจและน่าสนใจมากน้อยเพียงใด ทุกครั้งหลังสัมภาษณ์งาน ทีมสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะเป็น Recruiter หรือ Technical Manager จะมีการพูดคุยกันว่าจากการสัมภาษณ์แล้ว เขาคนนี้ “ธรรมดา หรือ ธรรมดาพลัส”
ก่อนที่ผู้สมัครจะได้เข้ามาสัมภาษณ์กับทั้งฝ่ายบุคคลและทีมต้นสังกัด จะมีการโทรเข้าไปคุยเพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจก่อน ขั้นตอนนี้ก็อาจทำให้บางคนตกสัมภาษณ์ เพราะมักเลื่อนเวลาสัมภาษณ์งานบ่อยๆ รับโทรศัพท์ด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ หรือรับโทรศัพท์ในขณะที่ไม่พร้อมคุย ฉะนั้นหากไม่สะดวก ให้นัดเวลาโทรกลับหรือบอกถึงเวลาที่ตนเองสะดวกคุย แต่หากพร้อมคุย ควรหาที่เงียบๆ ตั้งใจฟัง ทำความเข้าใจเนื้องานที่อีกฝ่ายเสนอ และบอกเล่าถึงประสบการณ์และความสามารถของตนเอง เพราะหากตำแหน่งที่เขาโทรมาไม่ตรงกับตัวคุณ แต่หากบริษัทสนใจ คุณอาจจะได้ตำแหน่งอื่นที่ตรงกว่าก็เป็นได้
หลังจากนั้นเมื่อได้รับโอกาสให้เข้ามาสัมภาษณ์ สิ่งแรกที่ผู้สมัครจะต้องเตรียมพร้อมคือ ตัวเอง
หากคุณเป็นคนที่พูดไม่เก่ง ควรต้องเตรียมซ้อมพูด ลองอัดเสียงว่าฟังตัวเองพูดดูว่ารู้เรื่องหรือไม่ หากคุณเป็นคนที่ขี้ลืม อาจจะต้องรีบเตรียมเอกสารไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ หากบ้านไกลจากจุดนัดพบ หรือคาดว่าช่วงเวลาที่จะเดินทางไปสัมภาษณ์รถจะติด ก็ควรออกจากบ้านให้เร็วขึ้น และศึกษาเส้นทางก่อนมาสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์ ไม่ว่าจะกี่รอบหรือใช้เวลานานเพียงใด หลักๆแล้วนั้น มีใจความอยู่ 3 ประการคือ
1. คุณเป็นคนที่มีความสามารถในตำแหน่งนี้หรือไม่? (Can)
คุณมีคุณลักษณะตามที่ระบุไว้ในประกาศของตำแหน่งงานหรือไม่ ทั้งประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และผลงานตามที่เคยได้รับมอบหมายหรือไม่? เช่น คุณอาจจะเป็นเซลล์ขายมือถือมาก่อน และอยากเป็นเซลล์ขายเรือดำน้ำ ผลิตภัณฑ์คงต่างกันจนเกินไป แต่อย่างไรก็ตามงานขายในบางครั้งก็อนุโลมให้มีเวลาปรับตัวและศึกษาผลิตภัณฑ์ด้วย แต่หากเนื้องานไม่ตรงกันกับคุณสมบัติที่คุณมีอยู่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่บริษัทนั้นปฏิเสธคุณ
2. คุณมีความต้องการที่จะทำงานในตำแหน่งนี้หรือไม่? (Will)
อะไรเป็นแรงผลักดันของคุณ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน เงินเดือน ค่าคอมมิสชั่น สวัสดิการ หัวหน้างานแบบไหนที่จะทำให้คุณรู้สึกอยากทำงานด้วย
แรงจูงใจ ความคาดหวัง ความต้องการ ที่แสดงออกมาไม่เท่ากัน ทำให้ใครบางคนถูกเลือก และบางคนกลับไม่ถูกเลือก
แต่ขณะเดียวกัน การอ้อนวอน ขอร้องให้รับเข้าทำงานก็มักได้ผลลัพธ์อีกแบบหนึ่ง ฉะนั้นคุณควรบอกเป้าหมาย จุดประสงค์ผ่านทางเหตุผล ไม่ใช่อารมณ์หรือแค่ความรู้สึก
3. คุณเหมาะสมกับองค์กรและทีมงานหรือไม่? (Fit)
นอกเหนือจากความสามารถ บริษัทก็อยากรู้ว่าคุณสามารถเข้ากับองค์กร ทีมงาน หรือแม้แต่ลูกค้าที่บริษัททำงานด้วยหรือไม่ และแนวทางการทำงานของคุณสอดคล้องกับรูปแบบการทำงานของบริษัทหรือไม่
บ่อยครั้งที่คนจากบริษัทใหญ่มักจะไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของบริษัทเล็กๆได้ หรือในทางเดียวกัน โดยส่วนใหญ่แล้ว คนจากบริษัทที่รับทำงานทุกอย่าง กว้างๆ ก็อาจจะจะรู้งานไม่ลึกเท่าคนที่มาจากบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านนั้นโดยตรง
Can Will Fit ของแต่ละบริษัทก็มักแตกต่างกันไป ด้วยเรื่องของโครงสร้างเงินเดือน สวัสดิการ สถานที่ รูปแบบการบริหาร ฯลฯ เราคงไม่สามารถตอบได้โดยรวมว่า “ทำไมคุณถึงไม่ได้งาน” แต่เราสามารถนำมาลงกับ 3 หลัก Can Will Fit ซึ่งคุณก็จะตอบได้เองว่า “ทำไมผม/ดิฉันถึงไม่ได้งาน” บ่อยครั้งมันไม่ใช่ว่าคุณไม่เก่ง หรือไม่ดีพอ แต่อาจเพราะเรายังเข้ากันไม่ได้ต่างหาก
หากคุณเป็นคนสาย IT หมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ชอบงานท้าทาย ต้องการแสดงฝีมือ และกำลังมองหาโอกาสดีๆให้ตัวเอง คลิกดูงานที่น่าสนใจจากเรากว่า 300 ตำแหน่งได้ที่นี่ คลิก Aware IT-Jobs
- 7 ขั้นตอนรับมือกับความเครียดที่เกิดจากการทำงาน - มกราคม 6, 2025
- รู้จัก 7Q ความฉลาด 7 ด้านที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก - ธันวาคม 24, 2024
- แนะนำหนังสือ Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น - ธันวาคม 13, 2024
- Reverse Mentoring เพราะเราทุกคนให้ความรู้และมุมมองที่แตกต่างกันได้ - มิถุนายน 20, 2024
- Certificate ที่น่าสอบเพื่อตอบโจทย์การทำงานสาย IT ในปี 2024 - มิถุนายน 14, 2024
- อยากเป็น Software Tester / QA Tester ต้องเริ่มอย่างไร - มกราคม 8, 2024
- สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน เราช่วยคุณเตรียมตัวได้นะ - ธันวาคม 7, 2023
- อยากเพิ่มทักษะให้ตัวเอง – ตัดสินใจอย่างไรระหว่างเลือกเรียนภาษาที่สามหรือภาษาคอมพิวเตอร์ ? - กุมภาพันธ์ 7, 2020
- วิธีเลือกกองทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยง - มกราคม 13, 2020
- บริษัทคัดเลือกผู้สมัครอย่างไร – ทำไมบริษัทไม่รับผมเข้าทำงาน? - กันยายน 23, 2019