มีนาคม 10, 2023
4 แนวทางเอาชนะ Burnout ในการทำงานสาย Tech
ปัจจุบันผู้คนในหลากหลายอาชีพกำลังเผชิญกับ Burnout หรือภาวะหมดไฟ เป็นสภาวะความเครียดสะสมจากการทำงาน และคนที่เผชิญภาวะนี้มีแนวโน้มที่สูงขึ้น โดยเฉพาะคนในแวดวงเทคโนโลยี อ้างอิงจากผลสำรวจของ Yerbo องค์กรที่เน้นเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาสุขภาพจิตด้วยเทคโนโลยีและ Blind แพลตฟอร์มที่ผู้เชี่ยวชาญเลือกใช้แบ่งปันความคิดเห็นและให้คำแนะนำต่าง ๆ แบบไม่ระบุตัวตน ทั้งสองเจ้านี้ได้ผลสำรวจที่คล้ายคลึงกัน
ในปี 2022 Yerbo สำรวจพนักงานในแวดวงไอทีกว่า 36,200 คน จากกว่า 33 ประเทศทั่วโลกพบว่า 2 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจนี้มีความเสี่ยง Burnout สูง และผู้หญิงมีความเสี่ยง Burnout มากกว่าผู้ชาย สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะ Burnout มาจากหลากหลายสาเหตุ ได้แก่
56% ไม่สามารถพักผ่อนได้แม้วันทำงานจะสิ้นสุดแล้ว
51% รู้สึกว่าพวกเขาประสบความสำเร็จน้อยกว่าที่ควร
62% รู้สึกถูกดูดพลังทั้งทางกายและทางใจจากการทำงาน
43% รู้สึกไม่ผูกพันกับงาน
27% รู้สึกไม่เห็นคุณค่าในงานนั้น
ในด้านของ Blind ที่สำรวจพนักงานจากบริษัทด้านเทคโนโลยีชั้นนำต่าง ๆ จำนวน 6,696 คน พบว่า กว่า 57.6% ของผู้ที่ทำงานสายเทคโนโลยี ประสบกับภาวะ Burnout และมาจากหลายหลายสาเหตุ ได้แก่
22.8% ภาวะผู้นำที่ทำหน้าที่ได้ไม่ดีบวกกับการสั่งงานที่ไม่ชัดเจน
19.7% งานหนักเกินไป
17.8% วัฒนธรรมองค์กรเป็นพิษ
15.3% ขาดอิทธิพลเหนืองานที่ทำและไม่เห็นความก้าวหน้าในอาชีพ
12.7% ได้รับค่าตอบแทนไม่เพียงพอ
จากทั้งสองผลสำรวจพบว่า คนทำงานในสาย Tech นั้นกำลังประสบอยู่ในภาวะ Burnout Crisis ที่ส่งผลกระทบด้านจิตใจเป็นส่วนใหญ่ เมื่อตกอยู่ในภาวะนี้แล้ว ควรแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อให้กระทบกับการใช้ชีวิตให้น้อยที่สุด แล้วเราจะมีวิธีอย่างไร? ลองปรับไปกับ 4 แนวทางเอาชนะ Burnout Crisis ของอาชีพสาย Tech ต่อไปนี้
เข้าใจปัญหาของตัวเองให้ถ่องแท้
การเข้าใจปัญหาของภาวะ Burnout ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากหลาย ๆ สาเหตุของภาวะ Burnout อาจจะเป็นเรื่องใกล้ตัวอย่างตำแหน่งงานที่ไม่สัมพันธ์กับความสามารถ ภาระงานหนักเกินไป สังคมในที่ทำงาน ฯลฯ ถ้าเราเข้าใจสาเหตุของปัญหาของเราอย่างถูกต้อง จะทำให้เราสามารถคิดแผนที่จะใช้ในการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
ถอยหลังสักก้าวเพื่อตั้งหลัก
หลังจากเราเข้าใจปัญหาของเราอย่างถี่ถ้วนแล้ว การก้าวถอยหลังมาตั้งหลักสักนิดก็ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญ เพราะ Burnout ก็คือภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจที่เกิดจากความเครียดสะสมจากการทำงาน ไม่อยากหยิบจับทำอะไร สูญเสียพลังงานทางจิตใจ หมดแรงจูงใจที่จะทำงาน การถอยหลังมาพักถือเป็นการช่วยลดความเครียดสะสม โดยอาจจะหากิจกรรมที่แตกต่างจากการทำงานหรือเราอาจจะมองหาแรงบันดาลและเป้าหมายใหม่ ๆ ในการทำงาน ทำให้เรามีแรงกระตุ้น เพิ่มแรงจูงใจในการทำงาน และช่วยลดความเบื่อหน่ายของงานได้ดีอีกด้วย
แบ่งพื้นที่สำหรับงานกับพื้นที่ส่วนตัว
หลาย ๆ คนอาจจะประสบปัญหา ‘ใช้ชีวิตอยู่กับงาน’ เพราะการขีดเส้นแบ่งระหว่างงานและเรื่องส่วนตัวไม่ลงตัว สิ่งที่เราจะทำได้ก็คือ การวางแผนการทำงานในแต่ละวัน รวมถึงการกำหนดขอบเขตของการทำงานไม่ให้หักโหมมากเกินไป โดยเราสามารถจะกำหนดเวลาในการตอบอีเมล กำหนดเวลาประชุมให้เป็นช่วง หรือปิดแจ้งเตือนเมื่อไม่ได้อยู่ในเวลางาน ถ้าทำงานจากที่บ้าน ก็อย่าลืมที่จะจัดสรรพื้นที่ในการทำงานให้แยกจากพื้นที่ส่วนตัวด้วยเช่นกัน
พูดคุยกับหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงาน
เมื่อถึงจุดที่ Burnout ทำให้เรารู้สึกไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยตัวเองได้ การขอความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมงานของคุณ หรือเพียงแค่พูดคุยกับพวกเขาเกี่ยวกับปัญหาของเราก็เป็นวิธีที่ดี นอกจากเราจะแลกเปลี่ยนปัญหาของเรากับเพื่อนร่วมงาน เรายังได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่าง ๆ ของเพื่อนร่วมงานด้วย นอกจากนี้ก็สามารถที่จะบอกหัวหน้าได้เช่นกัน การบอกปัญหาของเราอย่างเช่น งานที่หนักมากเกินไป การติดต่อเรื่องงานเดิม ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่ามากเกินไป หรือจะเป็นวิธีการทำงานไม่ตอบโจทย์ตัวเรา เป็นต้น เพราะว่าไม่มีใครรู้ปัญหาของเราได้ดีเท่ากับตัวเรา การบอกปัญหาของเรานอกจากจะทำให้หัวหน้ารู้และเข้าใจแล้ว ยังสามารถช่วยเหลือเราแก้ปัญหาเพื่อเอาชนะภาวะ Burnout ให้ได้
หากกำลังประสบกับภาวะ Burnout นั่นคือสัญญาณเตือนที่ร่างกายกำลังจะบอกเรา เป็นสิ่งที่ต้องเปลี่ยนแปลงและเอาชนะมันไปให้ได้ Burnout สามารถแก้ไขได้ เพียงแค่เรายอมรับมันและปรับตามแนวทางทั้ง 4 ให้เหมาะสมแล้ว เชื่อว่าทุกคนสามารถเอาชนะ Burnout ได้อย่างแน่นอน
อ้างอิง:
- Business Analyst ทำอะไร? สำคัญอย่างไรในอาชีพสายไอที? - พฤษภาคม 12, 2023
- 4 แนวทางเอาชนะ Burnout ในการทำงานสาย Tech - มีนาคม 10, 2023
- 5 อุปสรรคของผู้หญิงในการทำงานสาย Tech ในปัจจุบัน - มีนาคม 8, 2023
- Aware สานฝันและเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการย้ายสายงานมาเป็น Developer (ตอนที่2) - มกราคม 17, 2023
- Aware สานฝันและเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการย้ายสายงานมาเป็น Developer (ตอนที่1) - มกราคม 17, 2023
- จบไม่ตรงสายจะเปลี่ยนสายงานมาเป็น Developer ได้อย่างไร - มกราคม 17, 2023
- เราจะสร้าง Digital Footprint ที่เป็นมิตรต่อการสมัครงานได้อย่างไร - มีนาคม 29, 2022
- Digital Footprint ร่องรอยบนดิจิทัลที่เราทิ้งไว้สำคัญแค่ไหน - มีนาคม 29, 2022
- Hybrid Working – รูปแบบใหม่ของการทำงาน | Aware Group - ธันวาคม 7, 2021
- บางนา มามะ จะพาไปดู - พฤศจิกายน 12, 2021