เมษายน 24, 2025
คิดแบบนักวางกลยุทธ์ก่อนเปลี่ยนงาน งานไหนใช่กว่า? มาเทียบคะแนนกันเลย!
บทความนี้รวบรวมวิธีคิดเพื่อช่วยในการตัดสินใจมาให้คุณแล้ว หากวันหนึ่งคุณมีโอกาสได้เลือกงานมากกว่า 2 ที่ขึ้นไป หรือวันใดวันหนึ่งที่คุณยังคิดไม่ตกว่าจะเลือกงานทำงานในที่ใหม่หรือทำงานกับเก่าที่เสนอสิ่งต่าง ๆ ให้ทดแทนการลาออก มีหลักการใดบ้างที่ควรต้องยึดถือและควรพิจารณาย่างไร?
แน่นอนว่า เราไม่อาจตัดสินใจแทนคุณได้ แต่เราสามารถบอกวิธีคิดและหลักการที่จะทำให้คุณมั่นใจกับตัวเลือกมากที่สุดหากเลือกตามหลักการนี้
จากการสำรวจคนทำงานของทาง Adecco (บทสรุปความคิดเห็นของคนทำงานในไทยจากผลสำรวจ Salary & Work Trend) พบว่า ปัจจัยอันดับหนึ่งที่ผู้สมัครใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาองค์กรใหม่ที่จะร่วมงานด้วย ก็คือ เงินเดือนและสวัสดิการ รองลงมา คือ work-life balance โอกาสในการได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง และวัฒนธรรมองค์กร ทั้งนี้ยังเลือกงานจากเนื้องานที่น่าสนใจ ทำแล้วรู้สึกตอบโจทย์ความต้องการใน ได้ใช้ความรู้ทักษะอย่างเต็มที่ในงานนั้น ๆ หรือบางที่ก็เรียกว่า Innovative job ซึ่งนำ Self-Satisfaction (เมื่องานที่ทำประสบผลสำเร็จและผลงานถูกเผยแพร่ออกไป) มาสู่ชีวิตของคนทำงาน
Health Direct องค์กรที่ให้บริการข้อมูลสุขภาพและคำแนะนำที่เชื่อถือได้แก่ประชาชนออสเตรเลีย ได้ให้คำจำกัดความ Work-life balance ว่า ความสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิต (Work-Life Balance) หมายถึง การบริหารเวลาและพลังงานอย่างเหมาะสม ระหว่าง หน้าที่การงาน และ ชีวิตส่วนตัว เพื่อให้ทั้งสองด้านดำเนินไปอย่างสมดุลโดยไม่กระทบต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิต หรือความสัมพันธ์กับครอบครัวและสังคม โดยการมีสมดุลที่ดีช่วยให้บุคคลสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็มีเวลาพักผ่อน ดูแลสุขภาพ และใช้เวลากับครอบครัวหรือทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้น
คำว่า Work-life balance จึงครอบคลุมไปถึง “สิทธิในการเลือกของแต่ละบุคคล” หากใครตัดสินใจที่จะทำงานในชั่วโมงที่ยาวนานขึ้น งานนั้นก็ควรตอบแทนเขาอย่างเป็นธรรม เช่น มี ค่าล่วงเวลา (Overtime Pay) หากต้องทำยอดขาย ก็ควรมี ค่าคอมมิชชั่นตามจริง เป็นต้น
นอกจากนี้ Work-life balance ยังหมายถึง การเคารพชีวิตส่วนตัวของพนักงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่องค์กรจำนวนมากมักมองข้าม โดยเฉพาะในวัฒนธรรมการทำงานยุคดิจิทัลที่มีความคาดหวังว่า “พนักงานต้องพร้อมตอบเสมอ” หรือที่เรียกว่า Always On แนวคิดนี้ถูกชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนโดย Maura Nevel Thomas ผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้าน การจัดการความสนใจ (Attention Management) นักเขียนหนังสือขายดี และผู้ก่อตั้งแนวคิด Empowered Productivity™ ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการงานและเวลาแบบองค์รวม ที่ได้รับความนิยมในองค์กรชั้นนำระดับโลก เธอให้ความเห็นไว้ในบทความของ Forbes ว่า ความคาดหวังแบบ “Always On” นี้เป็นหนึ่งในต้นตอสำคัญของ ความเครียด ความกดดัน และภาวะหมดไฟ (Burnout) ที่พนักงานในยุคปัจจุบันต้องเผชิญอย่างเงียบ ๆ และองค์กรควรตระหนักว่า การส่งเสริม Work-life balance ไม่ใช่เรื่องของ “ชั่วโมงการทำงาน” อย่างเดียว แต่คือการ เคารพพื้นที่ส่วนตัว และขอบเขตเวลาของชีวิตพนักงาน
ในขณะที่เราจะยังลืมไม่ได้ในปัจจัยเรื่องการได้รับการยอมรับจากการทำงานและผลงาน ไม่ว่าจะเป็นคำชม รางวัล ประกาศนียบัตร ฯลฯ ซึ่งเป็นความท้าทายของทีม Reward Managementใ นทุกองค์กรว่า เราจะให้ความสำคัญและความสำเร็จในงานของพนักงานอย่างไรบ้าง รวมไปถึงการที่งานนี้ ช่วยให้พนักงานได้ Self-Accomplishment (การบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้) เช่น งานนี้ทำให้สามารถซื้อบ้านใหม่ได้ สามารถเเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลกได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม งานแต่ละงานมีความพึงพอใจที่ต่างกันออกไป งานที่ใช่ของคนหนึ่ง อาจไม่ใช่สำหรับอีกคนหนึ่ง ฉะนั้น เราควรดูองค์ประกอบโดยรวมของหลาย ๆ อย่าง เช่น คนที่ชอบทำงานคนเดียว ก็อาจจะชอบงานที่ลุยเดี่ยว หรือ Individual task แต่ในขณะที่อีกคนชอบทำงานเป็นทีม ไม่ชอบพรีเซนต์ ไม่ชอบให้ระบุชื่อ ก็จะเหมาะกับการลุยงานแบบทีม หรือ Team performance
ในตอนนี้ เมื่อคุณมีตัวเลือก เราอยากแนะนำคุณว่าก่อนจะตัดสินใจอะไร อย่าลืมคิดทบทวน และพิจารณาจากข้อดีข้อด้อยของข้อเสนอนั้น และแจ้งกับบริษัทที่คุณได้รับข้อเสนอว่า “ขอเวลาตัดสินใจสัก x วัน” ซึ่งคุณควรแจ้งบริษัทปัจจุบันหรืออีกบริษัทที่คุณได้รับข้อเสนองานด้วย คุณจำป็นต้องคิดให้รอบคอบ หากไม่คิดที่จะเปลี่ยนงานบ่อย ๆ นะคะ
ในการตัดสินใจเรื่องสำคัญต่าง ๆ ผู้เขียนอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับแนวคิดหนึ่งที่มีประโยชน์มากในการคิดวิเคราะห์ นั่นคือ “Opportunity Cost” หรือ “ต้นทุนค่าเสียโอกาส”
Opportunity Cost หมายถึง “สิ่งที่เราต้องเสียไป เมื่อเลือกทางใดทางหนึ่ง” หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ “โอกาสที่เราสละไปเพื่อเลือกทางเลือกที่ดีที่สุดในขณะนั้น” ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ดีเป็นอันดับสอง (2nd best) ที่เราต้องยอมละทิ้ง หรือที่เรียกว่า foregone opportunity
ดังนั้น หากเราจะตัดสินใจอย่างมีเหตุผล การพิจารณาทางเลือกที่มี Opportunity Cost ต่ำที่สุด จึงเป็นกลยุทธ์ที่ดี เพราะนั่นหมายถึงเราสละโอกาสอื่นน้อยที่สุด และเลือกสิ่งที่ให้ “ความคุ้มค่ามากที่สุด” ณ เวลานั้น
แนวคิดนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะการเงินหรือธุรกิจเท่านั้น แต่สามารถใช้ได้กับทุกการตัดสินใจในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน เวลาส่วนตัว หรือแม้แต่ความสัมพันธ์
Opportunity cost หาได้จากที่ไหน … เตรียมกระดาษพับสองด้านให้พร้อม (หรือจะแยกจอสกรีนเป็นสองฝั่งก็ได้) แบ่งฝั่งตัวลือกของงานที่คุณได้รับ โดยแยกจากหัวข้อหลักได้ ดังนี้
- รายได้หรือค่าตอบแทน – เงินเดือน Allowance โบนัส ค่าคอมมิชชั่น ฯลฯ อะไรก็ตามที่เป็นตัวเงิน
- สวัสดิการ – สิ่งที่จะได้นอกจากตัวเงิน ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รถรับส่ง ทุนการศึกษา ค่าตัดแว่น ค่าซื้ออุปกรณ์กีฬา ฯลฯ
- หน้าที่ ความรับผิดชอบ เนื้องาน – ตัวงาน ลักษณะงาน ลักษณะธุรกิจ มีความน่าสนใจเพียงใด
- ความก้าวหน้าในอาชีพ – โอกาสในการเลื่อนตำแหน่ง การโยกย้าย เงื่อนไขการทำงาน โอกาสในการพัฒนาทักษะ
- คุณภาพชีวิต – วัฒนธรรมองค์กร Work-life balance ทีมงาน วันหยุดพักผ่อน การทำงานล่วงเวลา การออกต่างจังหวัด (ข้อนี้อาจจะยากสุด หากคุณไม่รู้จักใครเลยในบริษัท ลองค้นหาการตั้งกระทู้ ลองหันซ้ายหันขวาตอนเข้าไปสัมภาษณ์ จะได้เห็นอะไรบางอย่างขององค์กรนั้น ๆ ไม่มากก็น้อยค่ะ)
- ที่ตั้งบริษัท – บริษัทและที่พักของคุณสอดคล้องกันเพียงใด อยู่ในเมืองหรือนอกเมือง สภาพการจราจร ค่าเดินทาง ระยะเวลาในการเดินทาง ค่าครองชีพ หรือ นโยบายการทำงานแบบ Onsite/ Remote/ Hybrid และเข้าออฟฟิศสัปดาห์ละกี่ครั้ง?
- อื่นๆ – ที่อาจจะเอามานับเพิ่มได้ ตามความรู้สึก (แต่เราไม่แนะนำเท่าไรนัก) เช่น อาจจะเป็นความชอบ ความเชื่อส่วนบุคคล ก็สามารถเอามานับได้ องค์กรสายมู ความใจดีของหัวหน้า ลูกทีมน่ารัก ฯลฯ
จากนั้น มาเริ่มกรอกคะแนนกันค่ะ!
เกณฑ์คะแนน คุณมีแค่ 0, 1, 2, 3 เท่านั้น ซึ่ง 0 แปลว่า แย่มาก ๆ ไม่ตรงตามที่ต้องการเลย (ซึ่งถ้ามีบริษัทไหนเสนอสิ่งที่เป็น 0 ในความต้องการของคุณ ทางเราคิดว่า คุณคงไม่ต้องมานั่งคิดให้เสียเวลา) 1 แปลว่า ตรงตามขั้นต่ำ (minimum requirement) ที่คาดไว้ 2 แปลว่า ดีกว่าที่คิด และ 3 คือ ดีเยี่ยมไปเลย (อย่าให้เรต 3 กับอะไรง่ายเกินไป โปรดระมัดระวังอีกครั้งว่า 3 คือ เยี่ยมไปเลย ไม่เคยพบเจออะไรที่ดีขนาดนี้ เพราะนั่นจะแปลว่า คะแนนจะเอียงไปทางตัวเลือกนั้นแน่ ๆ)
หากพบว่า ข้อเสนอของแต่ละที่ที่คุณได้รับมีข้อย่อย ๆ ที่แตกต่างกัน คุณสามารถแยกย่อย ๆ เพิ่มเข้าก็ได้เช่น เงินเดือน ค่าคอมมิสชัน ค่า Allowance แยกเป็น 3 หัวข้อ เพื่อพิจารณาในละเอียดถี่ถ้วนจริงๆ เช่น คุณได้ข้อเสนอเป็น Sales จากสองที่ (จริง ๆ คุณสามารถเทียบกี่ที่ก็ได้) ก็ให้ลงละเอียดไปเลยว่า ฐานเงินเดือนของทั้งสองที่นั้น คุณให้คะแนนมันเท่าไร ค่าคอมมิสชัน เงื่อนไขการจ่าย ค่าจิปาถะอื่น ๆ เวลาทำงาน จันทร์ – ศุกร์ หรือ จันทร์ – เสาร์ หรือไม่ได้หยุดตามเวลาปกติ
เมื่อได้คะแนนในทุกข้อแล้ว ก็ถึงเวลาบวกเลขค่ะ ฝั่งไหนที่มีคะแนนเยอะกว่า คุณก็สามารถตัดสินใจเอียงไปฝั่งนั้นได้เลย โดยเป็นการตัดสินใจที่ผ่านการวิเคราะห์มาอย่างดีแล้ว แต่หากคะแนนใกล้กันหรือคุณยังรักพี่เสียดายน้อง ยังไม่มั่นใจกับคำตอบของตัวเอง คุณสามารถเอาผลการเปรียบเทียบอันนี้ ไปปรึกษาผู้มีประสบการณ์ คนที่คุณเคารพ หรือคนที่เคยทำงานตำแหน่งนี้มาก่อน หรือแม้แต่คนที่เคยทำงานบริษัทนี้แผนกนี้มาก่อน (อาจจะต้องใช้หลายคนหน่อยเพื่อตัดอารมณ์ความรู้สึกออกไปนะคะ) การปรึกษาผู้อื่น ก็เพื่อช่วยคอนเฟิร์มความคิดของคุณ และได้รับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในส่วนที่คุณอาจคิดไม่ถึงก็ได้ค่ะ
เมื่อตัดสินใจเลือกที่ใดที่หนึ่งแล้ว อย่าลืมแจ้งการปฏิเสธอีกที่ด้วยนะคะ อย่าให้อีกฝั่งรอเก้อ เพราะแม้การที่เราไม่ได้ร่วมงานกันวันนี้ แต่วันหน้าอาจจะได้ร่วมงานกัน เป็นบริษัทคู่ค้ากัน หรือแม้กระทั่งเป็นลูกค้าก็ได้ค่ะ
หากสนใจเปลี่ยนงาน หรือพิจารณาโอกาสในหน้าที่การงานใหม่ๆ สามารถดูรายละเอียดงาน IT อื่นๆ ของ Aware Group ทั้งหมดกว่า 200 ตำแหน่งได้ที่ https://www.aware.co.th/it-jobs
#หางานไอที #งานไอที #หางานIT #งานIT
- คิดแบบนักวางกลยุทธ์ก่อนเปลี่ยนงาน งานไหนใช่กว่า? มาเทียบคะแนนกันเลย! - เมษายน 24, 2025
- Advanced Interview Technique – รู้ทันเกมสัมภาษณ์ ตอบทุกคำถามให้ปัง - เมษายน 24, 2025
- 7 ขั้นตอนรับมือกับความเครียดที่เกิดจากการทำงาน - มกราคม 6, 2025
- รู้จัก 7Q ความฉลาด 7 ด้านที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก - ธันวาคม 24, 2024
- แนะนำหนังสือ Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น - ธันวาคม 13, 2024
- Reverse Mentoring เพราะเราทุกคนให้ความรู้และมุมมองที่แตกต่างกันได้ - มิถุนายน 20, 2024
- Certificate ที่น่าสอบเพื่อตอบโจทย์การทำงานสาย IT ในปี 2024 - มิถุนายน 14, 2024
- อยากเป็น Software Tester / QA Tester ต้องเริ่มอย่างไร - มกราคม 8, 2024
- สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน เราช่วยคุณเตรียมตัวได้นะ - ธันวาคม 7, 2023
- อยากเพิ่มทักษะให้ตัวเอง – ตัดสินใจอย่างไรระหว่างเลือกเรียนภาษาที่สามหรือภาษาคอมพิวเตอร์ ? - กุมภาพันธ์ 7, 2020