มิถุนายน 11, 2019

ความจริงหลากเรื่องราวของ LGBTQ+ ในสังคมไทย

by Pantita Sereephanpanit Fern

ความจริงหลากเรื่องราวของ LGBTQ+ ในสังคมไทย

 

บางคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า LGBTQ+ มาบ้าง แต่สำหรับคนที่ไม่เคย คำนี้เป็นตัวย่อของ Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer หรือกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ บทความนี้จะโฟกัสเกี่ยวกับเรื่องราวหลายๆ ด้านของ LGBTQ+ ในประเทศไทยรวมถึงหนทางช่วยลดความเหลื่อมล้ำ

 

การยอมรับ LGBTQ+ ในสังคม

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความหลากหลายทางเพศเป็นหนึ่งในเรื่องที่คนพูดถึงและให้ความสนใจเพิ่มขึ้น เพราะสามารถเชื่อมโยงถึงสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมกัน ปัจจุบันผู้คนมีความเปิดเผยและยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น แต่ว่าเราก็ยังเห็นคนกลุ่มนี้ถูกเลือกปฏิบัติอยู่ไม่ว่าจะเป็นภายในครอบครัว สังคมหรือสถานที่ทำงาน จากการสำรวจ Forbes ของในปี 2018 เผยให้เห็นว่า 46% ของพนักงานที่อยู่ในกลุ่ม LGBTQ+ เลือกที่จะไม่เปิดเผยเพศสภาพหรือรสนิยมทางเพศให้คนในที่ทำงานรู้เนื่องจากมีโอกาสสูงที่เขาจะถูกเลือกปฏิบัติ

 

สำหรับประเทศไทยนั้น สังคมมีการเปิดกว้างมากขึ้นสำหรับเรื่องนี้ ซึ่งสามารถเห็นได้จากต้นปี 2019 เนื่องจากที่เชียงใหม่และพัทยามีการจัดงาน Gay Pride นอกจากนั้นหลายคนได้ให้การยอมรับคนกลุ่มนี้และปฏิบัติต่อเขาด้วยความเท่าเทียมเหมือนกับคนอื่นๆ แต่ว่ายังมีคนบางส่วนมองเห็นพวกเขาเป็นตัวตลกและเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้ ถึงแม้ประเทศไทยจะเปิดกว้างในเรื่องนี้มากขึ้นกว่าในอดีต การแบ่งแยกและตั้งข้อจำกัดก็ยังมีให้เห็นอยู่ในบางพื้นที่

 

จากผลสำรวจในปี 2017 ของ World Bank จากคนไทยที่ไม่ใช่ LGBTQ+ จำนวน 1,200 คน พบว่า 37.4% เห็นด้วยที่คนกลุ่มนี้จะถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน และอีก 48% เชื่อว่ามีความสมเหตุสมผลที่พวกเขาจะไม่ได้รับบริการบางอย่างของรัฐบาลเช่น ข้อจำกัดในการรักษาพยาบาล ในกรณีของคู่รัก LGBTQ+ คนหนึ่งอาจจะได้รับบาดเจ็บสาหัสแต่ทางโรงพยาบาลไม่อนุญาติให้คู่รักเซ็นเอกสารยินยอมการรักษา เนื่องจากกฎของโรงพยาบาลอนุญาตให้ญาติทางสายเลือดหรือคู่สมรสเท่านั้นที่เซ็นยินยอมได้ หรือเมื่อมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต อีกฝ่ายหนึ่งไม่สามารถเรียกร้องสวัสดิการได้เพราะกฎหมายไทยไม่มีการรองรับสถานะไว้เหมือนคู่รักต่างเพศ

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในไทย

 

จากบทความของ The Matter ที่ได้สัมภาษณ์ครูเคท (คทาวุธ ครั้งพิบูลย์) นักเคลื่อนไหวด้าน LGBTQ+ เกี่ยวกับปัญหาที่กลุ่ม LGBTQ+ ต้องเจอในไทยได้แก่ การศึกษา การทำงานและการถูกปิดกั้นเป็นต้น ครูเคทเห็นว่าเด็กไทยถูกสอนแบบ Exclude คือ ให้เห็นคนอื่นเป็นคนที่แตกต่างจากตัวเอง มองคนอื่นแบบเหยียดไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนไหนก็ตาม เด็กบางคนถูกรังแกในโรงเรียนเพียงเพราะเขามีสีผิวที่เข้มไป หน้าตาไม่น่ารักหรือการแสดงออกไม่ตรงกับเพศกำเนิด เช่น ถูกกล่าวหาว่าเป็นตุ๊ดเพราะชอบเล่นกับเด็กผู้หญิง ซึ่งหลายคนยังขาดความเข้าใจในเรื่องนี้เพราะได้รับข้อมูลที่ไม่เพียงพอหรือไม่ถูกต้อง การถูกรังแกเพียงเพราะตัวเองแตกต่างจากคนอื่นนั้นสามารถทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของผู้ถูกรังแกได้ การถูกรังแกเริ่มต้นได้หลายรูปแบบ แต่สาเหตุหลักมักจะเกิดขึ้นจากการที่คนๆ หนึ่งปฏิบัติตัวแตกต่างจากคนกลุ่มใหญ่หรือการปฏิบัติที่ไม่ตรงกับเพศของตัวเองทำให้โดนกลั่นแกล้ง ไม่ว่าจะเป็นทางคำพูดหรือทางร่างกายก็ตาม

 

อุปสรรคในด้านการทำงาน

การทำงานเป็นเรื่องสำคัญเพราะทุกคนต้องหาเลี้ยงชีพตัวเอง แต่ว่ากลุ่มคนทำงาน LGBTQ+ บางคนไม่ได้รับการจ้างงาน โดยเฉพาะ Transgender (กลุ่มคนข้ามเพศ เช่น กระเทย)  ที่บางคนถูกปฏิเสธการสัมภาษณ์ทันทีเพียงเพราะเพศสภาพไม่ตรงกับที่ระบุ หลายคนถูกกีดกันจากงานกระแสหลักทำให้ต้องเป็นแรงงานนอกระบบซึ่งได้รับค่าจ้างและมีความมั่นคงที่น้อยกว่างานกระแสหลัก บางคนถูกปฏิเสธการสัมภาษณ์งานเพราะเรซูเม่กับรูปถ่ายไม่ตรงกัน นอกจากนี้บางคนถูกไล่ออกจากครอบครัวเพราะที่บ้านไม่พอใจกับเพศสภาพทำให้ไม่ได้รับการศึกษาที่เพียงพอ

เหตุผลเหล่านี้ทำให้ขอบเขตในการหางานถูกจำกัด เช่น การเป็นครู LGBTQ+ สังคมกลัวว่านักเรียนอาจจะเลียนแบบ หรือทึกทักเองว่าคน LGBTQ+ เหล่านี้ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะสอนและเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีต่อนักเรียน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ลอกเลียนแบบได้ การที่คนหนึ่งยอมรับว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มนี้เกิดจาก Self-discover คือการค้นพบตัวเอง ไม่ใช่การลอกเลียนแบบมาจากคนอื่น และคนที่อยู่ในกลุมนี้ก็ไม่ได้เลียนแบบว่าตัวเองอยากเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายตามพ่อแม่อีกด้วย

นอกจากการทำงานในระบบราชการหรือรัฐบาลที่มีข้อกำหนดให้แต่งกายตามเพศกำเนิดแล้ว การทำงานในบริษัทบางที่นั้นยังไม่เปิดกว้างพอสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ อีกด้วย บ่อยครั้งที่ผู้สัมภาษณ์จะตั้งคำถามว่า “คุณจะแต่งกายแบบผู้หญิงหรือผู้ชายถ้าได้รับการจ้างงาน” ซึ่งกลุ่ม Transgender จะเจอคำถามนี้เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะผู้ที่ทำการแปลงเพศแล้วและคำนำหน้าไม่ตรงกับเพศสภาพ คำถามในลักษณะนี้หากไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงาน ถือว่าละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ตอบคำถาม

ดังนั้นการตัดสินใจที่จะเปิดเผยตัวเองหรือไม่ในที่ทำงานนั้นอาจจะต้องแลกด้วยบางอย่าง ถ้าเขาเลือกที่จะไม่เปิดเผยก็จะไม่ได้เป็นตัวของตัวเองและมีความอึดอัด แต่ถ้าเขาเลือกที่จะเปิดเผย เขาก็จะได้เป็นตัวของตัวเองแต่มีความเสี่ยงที่จะถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเช่นกัน นี่เป็นสิ่งที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำ

 

วิธีลดการเลือกปฏิบัติควรเริ่มจากตรงไหน

การที่จะลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ LGBTQ+ ได้รับการปฏิบัติที่ถูกต้องและเท่าเที่ยมกับคนอื่นนั้นควรเริ่มจากภายในครอบครัวหรือโรงเรียนก่อน เมื่อเด็กได้รับการแนะนำว่าควรจะให้ความเคารพและปฏิบัติกับคนอื่นอย่างเท่าเทียมกันเพราะนั่นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับถึงแม้เขาจะแตกต่างกับเรา

นอกจากครอบครัวแล้ว โรงเรียนยังสามารถสอนเรื่องนี้กับนักเรียนเพิ่มเติมได้ด้วย แต่ว่าหลักสูตรเกี่ยวกับเพศศึกษายังไม่มีบรรจุเรื่องการปฏิบัติอย่างเท่าเที่ยมต่อทุกเพศสภาพในโรงเรียนของไทย ซึ่งหากบรรจุอยู่ในวิชาเพศศึกษาจะสามารถเชื่อมโยงไปถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศและสิทธิของประชาชนได้ หนึ่งในสาเหตุที่ยังไม่มีการสอนเรื่องเหล่านี้อาจจะเป็นเพราะสังคมไทยที่ยังมีความเชื่อแบบ conservative อยู่และไม่สอนเรื่องเพศศึกษาเหมือนโรงเรียนในต่างประเทศที่มีความคิดเปิดกว้างและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้

ในปัจจุบัน หลายประเทศได้ประกาศให้การแต่งงานของคนเพศเดียวกันถูกต้องตามกฎหมาย นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าหลายที่เริ่มให้การยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ แล้ว คนภายนอกอาจไม่เข้าใจถึงความสำคัญข้อนี้ แต่สำหรับกลุ่ม LGBTQ+ นี่คือก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นว่ามีคนคอยสนับสนุนและพร้อมต่อสู้เพื่อพวกเขา ในเมื่อเพศสภาพไม่ได้เกิดจากการเลียนแบบ มันน่าจะเป็นสิ่งที่ดีถ้า LGBTQ+ ได้รับการยอมรับและส่งเสริมให้เขาเป็นตัวของตัวเองและเชื่อมั่นในความสามารถของเขาเหมือนหญิงและชายคนอื่นๆ

สุดท้ายนี้ เราเชื่อว่าทุกคนควรจะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกันเพราะว่านั่นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับไม่ว่าเขาจะมีเชื้อชาติ เพศสภาพ รสนิยมทางเพศหรืออื่นๆ ที่ต่างจากคนกลุ่มใหญ่ เราไม่ควรจะตัดสินใครโดยมองแค่ภายนอกหรือเพศสภาพ แต่ควรจะมองให้ลึกไปกว่านั้น สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญคือประสิทธิภาพในการทำงานและความสามารถในด้านอื่นๆ ของเขา ลองนึกภาพสังคมที่ไม่มีการแบ่งแยกกันดูสิว่าจะน่าอยู่ขึ้นมากขนาดไหน

 

#AwareSupportLGBTQinWorkPlace

#InternationalLGBTQday

#AwarePeople

Uncategorized @th