มิถุนายน 24, 2022

Pride Month 2022 ฉลองความภาคภูมิใจ กับ 2 เหตุการณ์สุดยิ่งใหญ่ที่ผลักดัน LGBTQIAN+ เข้าใกล้คำว่าเท่าเทียม

by Supanut Mhaksuk supanut.m

Pride Month 2022 ฉลองความภาคภูมิใจ กับ 2 เหตุการณ์สุดยิ่งใหญ่ที่ผลักดัน LGBTQIAN+ เข้าใกล้คำว่าเท่าเทียม

 

 

เดือนมิถุนาวนมาบรรจบ เราต่างก็พบกับธงสีรุ้ง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้เราได้รู้ว่านี่คือเดือนแห่งความภาคภูมิใจ นี่คือเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศ และนี่คือเดือนที่หลาย ๆ คนต่างต้องการแสดงออกถึงจุดยืนในเรื่องความเท่าเทียม และเรียกร้องสิทธิเพื่อ LGBTQIAN+ Community และก่อนที่ Pride Month ปีนี้จะผ่านพ้นไป เรามาทบทวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกันในเดือนนี้ประจำปี 2022 กันดีกว่าว่า Pride Month ปีนี้ควรถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะว่า มี 2 เหตุการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของ LGBTQIAN+ Community ในไทย ไม่ว่าจะเป็นงานนฤมิตไพรด์และสมรสเท่าเทียม ที่เป็น 2 เหตุการณ์สุดสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศในไทยก้าวเข้าไปใกล้คำว่าเท่าเทียมมากยิ่งขึ้น 

 
 

นฤมิตไพรด์” งานไพรด์สุดยิ่งใหญ่ ใจกลางกรุงเทพฯ 

 

ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เหตุการณ์แรกที่ออกมาต้อนรับเดือน Pride Month อย่างยิ่งใหญ่ตระการตา นั่นก็คืองานนฤมิตไพรด์ขบวนไพรด์สุดยิ่งใหญ่ที่จะเป็นเหตุการณ์ครั้งสำคัญ เพราะว่า เป็นงานไพรด์ครั้งแรกในกรุงเทพฯ โดยงานไพรด์ครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมให้กับกลุ่ม LGBTQIAN+ และยังรวมไปถึงการเรียกร้องสิทธิและให้พื้นที่กับกลุ่มบุคคลอื่น ๆ ที่ยังคงโดนโครงสร้างสังคมกดทับอยู่อีกด้วย 

 

งานนฤมิตไพรด์หรืองานขบวนพาเหรดเพื่อสนับสนุนความหลากหลายทางเพศและเฉลิมฉลอง Pride Month  ได้จัดขึ้นในวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีการเริ่มเดินขบวนตั้งแต่วัดแขก ไปจนถึงสีลมซอย 2 กิจกรรมภายในขบวนเริ่มจากตัวแทนผู้จัดงาน ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม มาร่วมกันตัดริบบิ้นแห่งความอคติทางเพศ เพื่อเป็นการแสดงสัญลักษณ์ต่อต้านความอคติต่อกลุ่ม LGBTQIAN+ จากนั้นจึงมีการเดินขบวนพาเหรด 6 ขบวน โดยแบ่งขบวนออกเป็น 6 สีตามธงไพรด์ ซึ่งขบวนแต่ละสีก็จะมีความหมายและข้อเรียกร้องในเรื่องต่าง ๆ แตกต่างกันออกไปตามแต่ละขบวน 

 

ข้อเรียกร้องทั้งหมดภายในงานนฤมิตไพร์ดล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ LGBTQIAN+ ได้พบเจอจากการถูกเลือกปฏิบัติจากสังคม โดยข้อเรียกร้องประกอบไปด้วย กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศ สมรสเท่าเทียม พื้นที่ปลอดภัยของผู้ต้องขัง LGBTQIAN+ การยุติความรุนแรงทางเพศ สวัสดิการรัฐเพื่อ LGBTQIAN+ สวัสดิการผ่าตัดแปลงเพศ สวัสดิการผ้าอนามัย สวัสดิการการมีลูกมีครอบครัวของ LGBTQIAN+ การยุติการเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQIAN+ ในการรับสมัครและการเข้าทำงาน สิทธิ์ของกลุ่ม Sex Worker เป็นต้น 

 

นอกจากการเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศแล้ว ภายในงานก็ยังมีการร่วมเฉลิมฉลองเดือน Pride Month กันอย่างตระการตา ผู้เข้าร่วมขบวนต่างแต่งตัวด้วยสีรุ้งอย่างสวยงาม เลิศหรู ลักชู และมีสไตล์ แถมยังมีโชว์จาก Sexworker และ Drag queens ที่เป็นศิลปะที่มาจากจิตวิญญาณของ LGBTQIAN+ ในช่วงปิดท้ายงานอีกด้วย และอีกหนึ่งไฮไลต์ของงานไพรด์ครั้งนี้ คือ มีการสมรสของคู่เลสเบี้ยน ที่สวมชุดเจ้าสาวพร้อมทำพิธีผูกข้อมือเพื่อสื่อสารอย่างเปิดเผยว่าทั้งสองได้สมรสกันแล้วท่ามกลางความชื่นมื่นและปิติยินดีของผู้ที่มาร่วมงานไพรด์ครั้งนี้ 

 

The lesbian couple at the pride festival in Bangkok

คู่รักเลสเบี้ยนที่สมรสกลางงาน ‘นฤมิตไพรด์’ (ที่มา : themomentum.co)

 

ภายในงานยังมีบุคคลที่มีชื่อเสียงมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผู้ว่า กทม. นักการเมืองพรรคต่าง ๆ เจ้าของเวทีการประกวดนางงามอีกหลากหลายท่าน รวมถึงนักร้องอีกหลากหลายคนที่เป็น 1 ใน LGBTQIAN+ Community ก็มาเข้าร่วมขวน และยังมีนายแบบ-นางแบบ-Infuencers ชั้นนำอีกมากมาย 

 

ผู้เข้าร่วมงานไพรด์ครั้งนี้ล้วนแล้วแต่มีจุดประสงค์ที่จะเข้ามาร่วมสนับสนุนกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ และช่วยเรียกร้องสิทธิต่าง ๆ ให้คุณภาพชีวิตของ LGBTQIAN+ เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น โดยไม่มีอคติเรื่องเพศมาเป็นเพดานให้คุณภาพชีวิตลดน้อยลงไปกว่าเพศอื่น และยังรวมไปถึงการร่วมเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของ LGBTQIAN+ Community ว่าเราทุกคนก็คือคนอย่างเท่าเทียม ไม่มีใครแปลกแยกหรือแตกต่าง 

 

สมรสเท่าเทียม สิทธิขั้นพื้นฐานที่เพิ่งผ่านสภาในสเต็ปแรก! 

 

หลังจากที่เราต้อนรับเดือน Pride Month ด้วยงานไพรด์สุดยิ่งใหญ่ พอช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ในวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ก็เป็นอีกหนึ่งวันที่ควรถูกจารึกลงไปในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ถูกโหวตรับหลักการเป็นครั้งแรก! โดยการรับหลักการของสมรสเท่าเทียมครั้งนี้ยังคงเป็นเพียงสเต็ปแรกเพียงเท่านั้น ยังเหลือการพิจารณาในอีกหลายขั้นตอน แต่การที่สภามีการโหวตรับหลักการผ่านขั้นแรกไปได้นั้น ก็ถือว่า เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของสังคมไทย ที่ทำให้เราได้เริ่มมองเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่า สังคมไทยของเราจะเกิดความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริงก็เป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เป็นเพียงความหวังอีกต่อไป 

 

กาลเวลาเปลี่ยน สังคมก็ย่อมเปลี่ยน พื้นที่ ‘LGBTQIAN+’ มีมากขึ้น  แต่การเลือกปฏิบัติกลับไม่หายไป 

 

จากเหตุการณ์งานนฤมิตไพรด์และสมรสเท่าเทียมที่เกิดขึ้นในเดือนนี้ทำให้เห็นได้ว่า สังคมไทยในขณะนี้เกิดความความตระหนักรู้และให้ความสำคัญเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น และสังคมของเราก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่กำลังดีขึ้น ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า สังคมของเราเริ่มมีงานหลากหลายรูปแบบที่เปิดพื้นที่และคำนึงถึงกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ ลดการจำกัดโอกาสที่นำเรื่องเพศมาเป็นตัวตัดสิน  

 

ตัวอย่างของการเปิดพื้นที่ที่มีต่อ LGBTQIAN+ ที่มากขึ้นจากสังคม เช่น การประกวด Misss Fabulous Thailand ที่ Transgender และเกย์ที่แต่งหญิง สามารถเข้าร่วมประกวดนางงามในเวทีนี้ได้ และถ้าเราพูดถึงนางงามแล้ว เราจะไม่พูดถึงเวทีนี้ไม่ได้ เพราะเป็นอีก 1 เวทีที่สำคัญในสายนางงามซึ่งก็คือ Miss Universe Thailand นั่นเอง โดยทาง MUT ได้มีโปรเจกต์ Universe Is U ที่เปิดโอกาสให้ทุกเพศมาเข้าร่วมประกวดเพื่อเฟ้นหาที่สุดของจักรวาลได้อีกด้วย  

 

นอกจากพื้นที่ในสายนางงาม ก็ยังมีพื้นที่ของ LGBTQIAN+ ที่ได้รับการสนับสนุนในสายงานอื่น ๆ เช่น สายงานออฟฟิศทั่วไปที่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นกระแสพูดถึงอย่างมาก ที่ทางแบรนด์ศรีจันทร์ได้มีนโยบายสวัสดิการลาหยุดผ่าตัดแปลงเพศแก่ LGBTQIAN+ หรือจะเป็นแสนสิริที่จับมือร่วมกับ 8 ธนาคารชั้นนำ ที่อนุมัติให้คู่รัก LGBTQIAN+ สามารถกู้ร่วมซื้อบ้านได้ และพนักงานของแสนสิริที่เป็น LGBTQIAN+ ยังสามารถลาแต่งงานได้อีกด้วย 

 

จากตัวอย่างข้างต้นจะทำให้เห็นว่าในช่วงนี้ได้มีการเปิดพื้นที่ให้ LGBTQIAN+ อย่างมากขึ้น แต่ก็ยังคงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสังคมเท่านั้น ในปัจจุบันก็ยังมีอีกหลาย ๆ องค์กรที่ยังไม่เปิดรับ LGBTQIAN+ โดยกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศยังคงโดนเลือกปฏิบัติและโดนกีดกันการเข้าทำงานในบางสายงานอยู่เสมอ หรือถ้าได้เข้าร่วมทำงานก็ยังต้องเจอกับสภาพแวดล้อมการทำงานที่โดนเสียดสีนินทา กลั่นแกล้ง อคติ หรือไม่ให้เกียรติได้ ถึงแม้จะมีหลายบริษัทที่เปิดกว้างไม่มีอคติเรื่องเพศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่เรื่องเพศยังจำกัดอยู่แค่เพศชายหรือหญิงเพียงเท่านั้น 

 

Aware ไม่แบ่งแยก ไม่ปิดกั้น ยอมรับและเคารพในทุกเพศ 

 

LGBTQIAN+ กับเรื่องการถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงานยังคงเป็นอีกหนึ่งปัญหาของสังคมไทยที่ยังไม่หายไป อ้างอิงจากผลวิจัยหัวข้อการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของกลุ่ม LGBTQA+ ในประเทศไทยโดยธนาคารโลก ผลออกมาว่า  

77 เปอร์เซ็นต์ของคนข้ามเพศถูกปฏิเสธงาน เหตุเพราะตนเองเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ  

22.7 เปอร์เซ็นต์ของเกย์ไม่ได้รับการเลื่อนตำแหน่งงานเพราะเรื่องเพศ  

24 เปอร์เซ็นต์ของเกย์และเลสเบี้ยนถูกคำสั่งให้ห้ามเปิดเผยตัวตนในที่ทำงาน  

และนี่ก็เป็นเสียงสะท้อนจาก LGBTQIAN+ Community ที่ได้รับประสบการณ์ที่ถูกเลือกปฏิบัติในที่ทำงาน แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ขณะนี้ในไทยก็เริ่มมีหลายบริษัทที่มีแนวคิดปราศจากอคติเรื่องเพศและสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ รวมไปถึง Aware Group ที่สนับสนุนและเคารพในทุกเพศอย่างแท้จริง  

 

ที่ Aware พนักงาน LGBTQIAN+ จะได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับพนักงานเพศอื่น ๆ เรามองว่าพวกเขาเป็นเหมือนสมาชิกในครอบครัวของเรา ไม่ได้มองที่เพศสภาพพวกเขาว่าเป็นเพศอะไร ฉะนั้นเราไม่เคยนำเรื่องเพศมาเป็นปัจจัยในการวัดผลงานหรือคุณค่าของใคร” 

 

คำตอบจากคุณ พวงทอง ทิพย์แดง Human Resources Director ของ Aware Group หลังถูกถามถึงแนวทางการปฏิบัติในการประเมินงาน เนื่องจากเรามักจะได้ยินบ่อยครั้งถึงความไม่เป็นธรรม ที่กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศมักจะโดนประเมินงานแบบอคติ แต่ Aware มองทุกคนอย่างเท่าเทียม และประเมินงานจากตัวผลงานเท่านั้น ไม่มีการนำเรื่องเพศมาใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินแต่อย่างใด เราจะใช้วิธีการประเมินตามผลงานที่พวกเขาได้ทำว่า ทำสำเร็จตาม Criteria หรือไม่ หรือมีสิ่งไหนหรือทักษะอะไรที่ยังขาดตกบกพร่องหรือไม่ เราจะได้ช่วยให้ทุกคนใน Aware ได้บรรลุความสำเร็จในหน้าที่การงาน และคุณพวงทองยังได้เสริมอีกว่า การประเมินงานนั้น จำเป็นที่จะต้องมีการวางระบบประเมินที่สร้างความชัดเจนในเรื่องเกณฑ์ได้เป็นอย่างดี มีความยุติธรรมหรือเป็นที่ยอมรับของผู้ประเมิน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ป้องกันปัญหาจากอคติได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

Khun Dtom

คุณพวงทอง ทิพย์แดง (คุณต้อม)
Human Resources Director at Aware Group

 

นอกเหนือจากเรื่องประเมินงานก็ยังมีเรื่องการรับสมัครงานที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ LGBTQIAN+ มักพบเจอ แต่ Aware Group เราไม่เคยเอาเรื่องเพศมากำหนดในการรับสมัครงาน ต่อให้คุณจะเป็นเพศอะไร เราก็จะไม่นำเรื่องเพศมาคิดประกอบการตัดสินใจในการเลือกรับบุคลากรอย่างเด็ดขาด โดยการคัดสรรของ Aware คุณพวงทองได้กล่าวว่า เราคัดสรรบุคลากรจากความรู้ความสามารถตลอดจนทักษะและความชำนาญในตำแหน่งนั้น ๆ ว่า มีคุณสมบัติตรงกับตำแหน่งที่เราต้องการหรือไม่ เช่น ถ้าเปิดรับตำแหน่ง Senior iOS Developer สิ่งที่เราจะต้องคัดกรองในฐานะของ Recruiter คือ มีความสามารถใช้เทคโนโลยีที่ต้องการหรือเปล่า เคยผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เรากำลังต้องการทำหรือไม่ ฯลฯ สิ่งสำคัญคือความรู้ความสามารถในงานนั้น ๆ ส่วนเรื่องเพศไม่เคยถูกหยิบยกมาเป็นเกณฑ์ในการรับสมัครงานเลยแม้แต่น้อย ที่นี่เราเปิดรับและให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม 

 

และคุณพวงทองยังได้เสริมในเรื่องการดูแลพนักงานหลังเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว Aware ว่าที่นี่จะดูแลทุก ๆ คนที่เข้ามาร่วมงานกันตั้งแต่วันแรกของการทำงาน มีพี่ ในทีมช่วยดูแลในช่วงการทดลองงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ เพื่อนใหม่ ระบบใหม่ หรืองานใหม่ที่พวกเขาไม่คุ้นเคย เพื่อให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลาย สามารถเป็นตัวของตัวเอง ส่วนเรื่องการแสดงออกถึงอัตลักษณ์หรือตัวตน ทางเราไม่ปิดกั้นการแสดงออกของใครทั้งสิ้น ทุกคนสามาถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ และสามารถแสดงความรู้ความสามารถของเขาออกมาได้ตลอดเส้นทางอาชีพ บริษัทมีหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุน รวมทั้งพัฒนาพวกเขา เพื่อให้สามารถประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพได้ และให้มีความสุขกับการทำงานที่ Aware” 

 

Aware ไม่ใช่เพียงแค่เปิดรับ แต่ยังสนับสนุนให้ทุกคนแสดงออกถึงตัวตนได้อย่างเต็มที่ 

 

หลายครั้งเรามักจะเคยได้ยินว่า LGBTQIAN+ มักจะได้รับคำขอจากองค์กรให้ไม่เปิดเผยตัวตนหรืออัตลักษณ์ในที่ทำงาน แต่ที่ Aware เราไม่มีนโยบายเช่นนั้น เพราะเราเปิดรับและสนับสนุนให้ทุกคนใน Aware แสดงออกถึงตัวตนและความสามารถออกมาได้อย่างเต็มที่ และด้วยการที่เราสนับสนุนในการแสดงออกถึงตัวตน จึงทำให้ตอนนี้ Aware ได้มีอีกหนึ่งความภาคภูมิใจขององค์กร ที่ได้ไปสร้างชื่อเสียง สร้างความภาคภูมิใจ ให้พี่น้องชาว Aware กับคุณเอสเธอร์ เอสเธอริกาน่า ทองประทีป (อนุชา ศรีภูงา) ที่ได้รับตำแหน่ง 3rd Runner Up จากเวที Universe is U 2022 

 

จากแฟนนางงาม ก้าวสู่ตำแหน่ง 3rd Runner Up พร้อมส่งสารให้ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเอง 

 

Khun Est

คุณอนุชา ศรีภูงา (คุณเอสเธอร์)
หนึ่งในครอบครัวของ Aware ที่ได้รับมงกุฎ 3rd Runner Up Universe Is U 2022

 

เส้นทางการประกวดเวที Universe Is U ครั้งนี้ของคุณเอสเธอร์หนึ่งในพนักงานครอบครัว Aware ที่เป็นที่ภาคภูมิใจได้เริ่มต้นขึ้นด้วยความที่เธอเป็นแฟนนางงามเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยคุณเอสเธอร์ได้กล่าวว่า การประกวดนางงามไม่ได้ให้เพียงแค่ความบันเทิงเท่านั้น แต่ยังได้ให้ประโยชน์หลาย ๆ อย่างแก่สังคม คนที่ดูนางงามสามารถได้รับแรงบันดาลใจจากการประกวดได้ในหลากหลายรูปแบบ เช่น บางคนอาจได้แรงบันดาลใจในการออกกำลังกาย บางคนก็อาจได้แรงบันดาลใจจากการเป็นกระบอกเสียงปัญหาสังคมต่าง ๆ ที่นางงามได้หยิบยกมาเป็นแคมเปญในการประกวด ซึ่งพอ TPN ผู้ถือลิขสิทธิ์ Miss Universe ประจำประเทศไทย ได้เปิดโอกาสจัดการประกวด Universe Is U ขึ้นมา เธอจึงรีบสวมจิตวิญญาณแฟนนางงามแล้วคว้าโอกาสนี้ทำออกมาให้ดีที่สุด 

 

ในการประกวด Universe Is U ครั้งนี้เป็นการประกวดเพื่อเฟ้นหาสุดยอดแฟนนางงามที่สามารถ Cover นางงามต้นแบบได้เหมือนที่สุด โดยคุณเอสเธอร์ได้เลือกนางงามต้นแบบเป็นคุณน้ำตาล ชลิตา ส่วนเสน่ห์ โดยคุณเอสเธอร์ได้ให้เหตุผลไว้ว่า เธอชื่นชอบในความมุ่งมั่นของคุณน้ำตาลมาก ๆ แม้คุณน้ำตาลจะโดนกระแสวิจารณ์อย่างหนัก แต่ก็สามารถก้าวข้ามคำวิจารณ์เหล่านั้นนำกลับไปพัฒนาตน แล้วกลายมาเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของแฟนนางงามไทยได้ ซึ่งจากเหตุผลนี้ทำให้คุณเอสเธอร์ได้นำความรู้สึกที่คุณเอสเธอร์มีต่อคุณน้ำตาลมาต่อยอดเป็น Speech ในการประกวด เพื่อส่งสารถึงทุกคนว่าให้ทำสิ่งที่ทุกคนรัก และให้เชื่อมั่นในตัวเองทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะหากน้ำตาลทำได้ เอสเธอร์ทำได้ ทุกคนก็ทำได้เช่นเดียวกัน”  

 

ในการเข้าร่วมประกวดครั้งนี้ คุณเอสเธอร์ได้กล่าวถึงกำลังใจและการสนับสนุนที่เธอได้รับจากเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ ชาว Aware ไว้ว่า แน่นอนค่ะ ทุกคนคอยซัพพอร์ตในกำลังใจผ่าน Direct message มาเยอะมาก ๆ แล้วที่สำคัญคือมีการซัพพอร์ตเป็นตัวเงินที่เอสสามารถนำมาใช้จ่ายระหว่างการประกวดได้ ขอขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนอีกครั้งค่ะ” 

 

หนึ่งในกำลังใจจากครอบครัว Aware ที่มีต่อคุณเอสเธอร์ในการประกวดครั้งนี้ คือ คุณพวงทอง ที่เธอรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก เพราะภาพในการสมัครเข้าประกวด Universe Is U ของคุณเอสเธอร์ คือ ภาพที่สวมเสื้อยืดโลโก้บริษัท พอคุณพวงทองทราบเหตุผลของการไปประกวดครั้งนี้ยิ่งทำให้เธอรู้สึกประทับใจมากยิ่งขึ้น และติดต่อผ่านคุณแอน ฝ่าย HR ให้ประสานถามรายละเอียดว่า คุณเอสเธอร์อยากให้บริษัทช่วยเหลืออะไรไหม ทางบริษัทพร้อมสนับสนุนเต็มที่ เพื่อให้มงลงคุณเอสเธอร์! และคุณพวงทองยังพูดเสริมถึงคุณเอสเธอร์อีกว่า “น้องเอสจะเป็นพนักงานที่บริษัทภูมิใจในการที่น้องเอสเป็นผู้ที่มีความรับผิดชอบ มีความขยันตั้งใจในการทำงาน และรักในงานที่ตัวเองทำแล้ว   ทุกครั้งที่บริษัทมีการจัดงานปาร์ตี้ น้องเอสก็จะจัดเต็มเสมอทุกๆครั้ง ซึ่งแน่นอนไม่เคยทำให้ใครผิดหวังเลย สุดยอดค่ะ !!” 

 

ด้วยกำลังใจที่เปี่ยมล้นจากพี่น้องชาว Aware ที่ได้ร่วมเป็นส่วนเล็ก ๆ ของการคว้ามงกุฎสุดยอดแฟนนางงามครั้งนี้ โดยผลการประกวดออกมาก็ยิ่งทำให้ทุกคนภาคภูมิใจเพราะคุณเอสเธอร์ได้รับตำแหน่ง 3rd Runner Up โดยเธอได้กล่าวถึงความรู้สึกหลังเธอได้รับตำแหน่งว่า เธอรู้สึกภูมิใจในตัวเองและขอบคุณตัวเองที่กล้าและทำจนสำเร็จ นี่คือย่างก้าวความสำเร็จที่มาจากการพัฒนาตัวเอง นอกจากนี้คุณเอสเธอร์ได้ฝากถึงคนใน LGBTQIAN+ Community ที่ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันไว้ว่า เราต้องเชื่อมั่นและต่อสู้กับความไม่เท่าเทียม ในเดือน Pride month นี้ที่เราต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของบุคคลคนหนึ่งที่ควรจะได้รับนั้นเริ่มเห็นผลแล้ว ยกตัวอย่างเช่น สมรสเท่าเทียม ที่เป็นสิทธิที่เราควรได้รับแต่ถูกกดทับด้วยคำว่าเพศชายหญิงไว้ ในวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวก็ผ่านมติสภาผู้แทนราษฏร ถือเป็นก้าวแรกแห่งความสำเร็จของการต่อสู้มาอย่างยาวนาน เธออยากให้ทุกคนเชื่อมั่นและลงมือทำเพราะสักวันความสำเร็จมันจะส่งผลตอบแทนเรา อย่ายอมแพ้ อย่าหมดหวัง ยังไงพวกเราก็ต้องก้าวข้ามความไม่เท่าเทียมไปได้อย่างแน่อน 

 

ในวันที่สังคมไทยกำลังก้าวหน้าไปสู่ความเท่าเทียมทางเพศอย่างแท้จริง แม้สังคมของเราจะยังมีบางองค์กรบางพื้นที่ที่ยังไม่เปิดรับกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศอย่าง 100% แต่ Aware ของเรานั้น เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่พร้อมสนับสนุนและเปิดรับต่อคนทุกเพศอย่างเท่าเทียม และไม่ปิดกั้นใครเพียงเพราะเรื่องเพศทั้งสิ้น สำหรับใครที่อยากมาสมัครงานที่ Aware บริษัทเรายินดีต้อนรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตาม เราเชื่อมั่นว่า เพศไม่ได้เป็นตัวกำหนดความสามารถ พวกเราสนับสนุนความเสมอภาคทางเพศ และสนับสนุนการแสดงออกตัวตนอย่างแท้จริง คำว่าเท่าเทียมเกิดขึ้นจริงที่ Aware Group 

 

อ้างอิง : 

Thansettakij.com 

Themomentum.co 

Thairath.co.th 

Thaipublica.org 

Prachatai.com 

 

เนื้อหาโดย: คุณศุภณัฐ หมากสุก

Pride Month 2022 ฉลองความภาคภูมิใจ กับ 2 เหตุการณ์สุดยิ่งใหญ่ที่ผลักดัน LGBTQIAN+ เข้าใกล้คำว่าเท่าเทียม

Pride Month 2022 ฉลองความภาคภูมิใจ กับ 2 เหตุการณ์สุดยิ่งใหญ่ที่ผลักดัน LGBTQIAN+ เข้าใกล้คำว่าเท่าเทียม

About Supanut Mhaksuk

Content Marketing Internship - นักศึกษาฝึกงานจาก นิเทศ ม.เกษตรฯ ผู้ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แต่มีใจรักที่จะลองเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มาร่วมเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไปพร้อมกันนะครับ

Uncategorized @th