สิงหาคม 29, 2019

Provident Fund – มากกว่าโบนัสทุกปีคือโบนัสทุกเดือน

by Matana Wiboonyasake matana.w@aware.co.th

Provident Fund - มากกว่าโบนัสทุกปีคือโบนัสทุกเดือน

 

ทำงานทุกวันมีใครไม่หวังผลตอบแทนบ้างล่ะจริงไหม? แต่ที่น่าสนใจกว่าค่าตอบแทนรายเดือนแล้ว ก็มีแต่ขวัญและกำลังใจที่ต่อความสุขให้คนทำงานอย่างเราทุกเดือนในรูปแบบของโบนัสไงล่ะ

 

มากกว่าโบนัสทุกปีคือโบนัสทุกเดือนเนี่ยมีจริงๆนะ บริษัทที่ให้โบนัสทุกเดือนปัจจุบันนี้มีมากกว่า 17,497 บริษัทที่ให้โบนัสรายเดือนกับพนักงานที่โชคดีแบบนี้อยู่ถึง 3,088,102 คน

 

โบนัสทุกเดือนคืออะไร? ก็คือ เงินสมทบทุน ‘กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือ Provident Fund’  ที่เราส่งเงินเข้ากองทุนไว้ออมส่วนหนึ่งแล้วนายจ้างจะจ่ายเงินสมทบให้เราทุกเดือนนั่นเอง

 

แต่ก่อนที่จะได้เงินสมทบ เรื่องนี้ต้องเกิดความสมัครใจจากพนักงานและนายจ้างที่จะร่วมกันจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้นมา โดยที่พนักงานต้องสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯเสียก่อน แล้วเลือกว่าจะส่งเงินสะสมเข้ากองทุนเดือนละเท่าไหร่ ตามกฏหมายแล้วเราสามารถสะสมได้ต้งแต่ 2-15% ของค่าจ้าง เมื่อเราเริ่มสะสมแล้ว นายจ้างก็จะช่วยสมทบลูกจ้างที่เป็นสมาชิกทุกเดือน (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตามอัตราที่กำหนดไว้) เช่น ถ้าเราต้องการสะสมที่ 5% ของเงินเดือน 25,000 บาท ซึ่งจะอยู่ที่ 1,250 นายจ้างก็จะสมทบให้ที่ 1,250 บาท มาให้ทุกเดือน แล้วถ้า

 

เงินสะสมที่เราจ่ายและเงินที่นายจ้างสมทบไปไหนต่อ?

เงินตรงนี้จะถูกนำไปลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างกำไรให้กับกองทุน ส่วนกำไรที่ได้ก้จะนำมาเฉลี่ยคืนแก่สมาชิก ตามสัดส่วนของเงินที่มีเก็บสะสมไว้ เรียกเงินส่วนนี้ว่า ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบ

 

สงสัยหรือไม่ว่ากองทุนมีกี่แบบ?

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจริงๆมี 3 ประเภท ได้แก่

 

กองทุนเดี่ยว (Single Fund)

เป็นกองทุนที่จัดตั้งของบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีลูกจ้างจำนวนมาก ทำให้มีเงินสะสมเข้ากองทุนในแต่ละเดือนนั้นมีจำนวนมาก กองทุนเดี่ยวจะมีคณะกรรมการกองทุน ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามที่ต้องการ และโดยส่วนใหญ่ เงินกองทุนที่ลงทุนนี้จะจดทะเบียนเป็นชื่อบริษัทของนายจ้าง

 

กองทุนกลุ่ม (Group Fund)

เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นของบริษัทในเครือเดียวกัน โดยที่บริษัทในเครือจะนำเงินหักจากเงินเดือนของลูกจ้าง เข้าร่วมลงทุนกันในกองทุนของกลุ่มบริษัท ลักษณะการลงทุนจะเป็นแบบเดียวกับกองทุนเดี่ยว คือ บริษัทในเครือจะนำส่งเงินมาลงทุนร่วมกันในกองทุนเพียงกองทุนเดียว

 

กองทุนร่วมทุน (Pooled Fund)

เป็นกองทุนที่ร่วมลงทุนของหลายบริษัท เพราะในหลาย ๆ บริษัทอาจมีลูกจ้างจำนวนไม่มาก จึงมีเงินสะสมจากลูกจ้างและนายจ้างในแต่ละเดือนไม่มาก จึงไม่คุ้มที่จะดำเนินการเป็นกองทุนเดี่ยว

แต่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อาจเข้ามามีส่วนร่วมเป็นตัวกลางในการนำเงินสำรองเลี้ยงชีพของหลายบริษัท นำมาร่วมลงทุน โดยมีค่าใช้จ่ายในการบริหารกองทุนแบ่งตามสัดส่วนของเงินร่วมลงทุน

 

จะรู้ได้อย่างไรว่ายอดทั้งหมดถูกต้องทุกเดือน?

คุณควรติดตาม ‘ใบแจ้งยอดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ’ ที่ทางกองทุนจะจัดส่งมาให้ ตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ในใบแจ้งยอดและควรเก็บเอกสารนี้ไว้เป็นอกสารอ้างอิงด้วย แล้วเราควรดูอะไรบ้าง

  1. จำนวนหน่วยของกองทุน ว่ามีจำนวนรวมกองทุนจากส่วนของเราและนายจ้างเท่าไร รวมเป็นมูลค่าเท่าไร
  2. เช็กยอดเงินสะสม ที่เราจ่ายเข้ากองทุน (2 – 15% ของเงินเดือน) ว่าตรงกับที่หักเราไปทุกเดือนหรือไม่ ยอดยกมาครบหรือไม่ ยอดระหว่างปีถูกต้องหรือเปล่าหากเรามีการเพิ่มเปอร์เซ็นต์การหักเงิน (อาจะเช็กกับใบแจ้งยอดเงินใบเก่าด้วย) ผลประโยชน์เป็นอย่างไร
  3. เช็กยอดเงินสมทบ เป็นเงินที่นายจ้างช่วยจ่ายเข้ากองทุนให้ (ไม่น้อยกว่าที่ลูกจ้างสมทบ) เพื่อดูว่ายอดถูกต้องครบถ้วนไหม ไม่ว่าจะเป็นยอดยกมา ยอดระหว่างปี ยอดรวมแล้วถูกต้องหรือไม่
  4. อัตราผลตอบแทน บอกถึงผลประโยชน์ที่ผู้จัดการกองทุนนำเงินไปบริหารว่าได้เป็นกี่เปอร์เซ็นต์ (อาจะเช็กกับใบแจ้งยอดเงินใบเก่าด้วยเพื่อเปรียบเทียบด้วย)

 

เมื่อไหร่จะได้ใช้เงินโบนัสที่ว่าและเงินที่เราจ่ายสะสม?

จะได้รับคืนเมื่อไหร่ ต้องบอกก่อนว่าเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนี้เป็นเงินเก็บระยะยาว กรณีที่จะเอาออกได้คือ ออกจากงาน เกษียณอายุ โอนย้ายกองทุน หรือเสียชีวิตเท่านั้น

เมื่อเราลาออกจากกองทุน (ไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม) เราจะได้รับเงินส่วนที่สะสมไว้กับกองทุน รวมทั้งดอกผลที่เกิดจากการลงทุนทั้งหมด และนายจ้างไม่มีสิทธิเขามายุ่มย่ามกับเงินก่อนนี้เด็ดขาด

 

สรุปแล้วเราจะได้อะไรจากการเป็นสมาชิกกองทุน?

ที่แน่ๆคือ เราได้รับเงินเป็นเสมือนโบนัสที่นายจ้างจ่ายไว้ให้จากการสมทบเงินกองทุนฯ ช่วยฝึกวินัยให้เราออมเงิน (แกมบังคับ) เป็นอัตราส่วนเท่าๆกันทุกเดือน ทั้งยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษี เก็บเงินก้อนไว้ใช้เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับตัวเองเมื่อเราออกจากงาน หรือแม้กระทั่งเข้าสู่วัยเกษียณ แถมยังได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนด้วย

 

 

Provident Fund - มากกว่าโบนัสทุกปีคือโบนัสทุกเดือน

About Matana Wiboonyasake

Digital Marketing Executive | Aware Group

Uncategorized @th