บทความนี้เราอยากจะช่วยให้คุณตระหนักถึง “การรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยี หรือ IT Security ” เพราะเรื่องนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับทุกคนที่กำลังใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนอนาคตชนิดนี้อยู่ และเป็นสิ่งที่เราควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ ทำไมน่ะเหรอ เราชวนคุณมาทำความเข้าใจไปพร้อมๆกัน
คุณอาจไม่ทราบว่าอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไม่ได้ติดตั้งการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีมาตั้งแต่แรก
คุณรู้หรือไม่ว่าอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งหลายส่วนใหญ่ ถูกออกแบบมาให้ใช้งาน แต่ไม่ได้บรรจุการป้องกันภัยใดๆมาให้ ถ้าสังเกตุเวลาที่คุณซื้อคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุคใหม่มาใช้ นอกจากการติดตั้งซอฟท์แวร์ต่างๆแล้ว คุณจะถูกแนะนำให้ติดตั้งซอฟท์แวร์รักษาความปลอดภัยให้แก่คอมพิวเตอร์ด้วย หากคุณยังไม่ทราบเราสามารถบอกได้เลยว่าโซลูชั่นความปลอดภัยแบบเดิมจะค่อยๆล้าสมัยไปเรื่อยๆ เกินกว่าที่จะระบุและตรวจจับภัยคุกคามได้ ยิ่งสภาพแวดล้อมของอุปกรณ์ต่างๆสามารถเชื่อมต่อถึงกันมากขึ้นและซับซ้อนยิ่งขึ้น สิ่งเรานี้เรายิ่งต้องตามให้ทัน
สมาร์ทโฟนเองก็เช่นกัน ยิ่งเป็นระบบแอนดรอยด์คุณยิ่งต้องระวังในเรื่องการใช้งานให้มากๆ เพราะสามารถติดไวรัสได้ไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์
ส่วนการใช้งานอินเทอร์เน็ตต่างๆไม่ว่าจะผ่านทางเว็ปไซต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ อาจกลายเป็นหลุมพรางใหม่ๆที่ทำให้คุณกลายเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีได้ นอกจากนั้นกฏหมายที่บังคับใช้ในโลกออนไลน์ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมหรือเป็นที่รับทราบแก่ผู้ใช้งานทั่วไป ทั้งเราและองค์กรต่างต้องรีบปรับตัวอย่างรวดเร็วเพื่อรักษาความปลอดภัย ไม่ใช่แค่ตัวเราแต่ยังรวมไปถึงธุรกิจที่จะส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทยต่อไปได้อีกด้วย เหล่านี้ทั้งหมดคือภัยและความเสี่ยงที่เราต้องเผชิญ
เพราะคุณเป็นส่วนหนึ่งในสถิติเหล่านี้
เรามีตัวเลขที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้อินเตอร์เน็ตและอุปกรณ์เชื่อมต่อของคนไทยที่น่าสนใจมายืนยัน ว่าทำไมทุกคนถึงควรที่จะตระหนักในเรื่องของการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีกันได้แล้ว
ที่มาของสถิติ คลิกที่นี่
IT Security Awareness ของคนไทยมีน้อยมาก
จากผลตัวเลขต่างๆที่กล่าวมา เราจะเห็นว่าคนไทยมากกว่า 46 ล้านคนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สะดวกมากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น และใช้อินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศ แต่ในขณะเดียวกัน เรามีความเสี่ยงในการใช้อินเทอร์เน็ตทั้งเรื่องของความปลอดภัยส่วนบุคคลและความปลอดภัยทางธุรกิจสูง เห็นได้ชัดว่าเราเน้นการใช้งานมากกว่าที่จะคำนึงถึงการป้องกัน แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือ IT Security Awareness หรือเรื่องการตระหนักถึงเรื่องของการรักษาความปลอดภัยทางเทคโนโลยีกลายเป็นเรื่องที่เราขาด โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้ถึงภัย การป้องกันและความเสี่ยงจากเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นทั้งในแง่ส่วนบุคคล คือ ผู้ใช้เทคโนโลยีทุกช่วงอายุ และส่วนธุรกิจองค์กรที่มีการใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตในสำนักงาน
สำหรับอาชญากรคอมพิวเตอร์ระดับโลกแล้ว ผลเหล่านี้บอกว่าประชาชนโดยส่วนใหญ่อ่อนแอและสุ้มเสี่ยงต่อภัยทางอินเทอร์เน็ตแค่ไหน เขาสามารถที่จะมองเห็นเราเป็นเหยื่อทั้งส่วนบุคคลและส่วนองค์กร ซึ่งนี่เองที่นำไปสู่ช่องทางในการโจมตีหรือก่ออาชญากรรม ฉะนั้นประเทศไทยจึงเหมาะอย่างยิ่งในการตกเป็นเป้าหมาย เพราะโจมตีได้ง่ายกว่าประเทศที่ให้ความสำคัญทางด้านนี้มากๆ เช่น อเมริกา ประเทศต่างๆในยุโรป ญี่ปุ่น หรือ เกาหลี ฯลฯ
ในยุคโมเดล Thailand 4.0 เราทุกคนอาจตกเป็นเหยื่อ
ด้วยนโยบายที่จะผลักดันประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัลด้วยการปรับเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้ เพื่อพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เราในฐานะประชาชน ผู้ใช้ และผู้ประกอบการที่กำลังใช้เทคโนโลยี ล้วนมีประสบการณ์และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุปกรณ์ติดต่อสื่อสารหรือเทคโนโลยีต่างๆ กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันราวกับอวัยวะส่วนหนึ่งในร่างกายไปแล้ว เราทุกคนมีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตอย่างใดอย่างหนึ่งที่ใช้งานทุกวัน และด้วยอัตราการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยเติบโตขึ้นมาก ทำให้ภาคธุรกิจมีการเปิดตัวธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ ทั้งผลิตภัณฑ์ บริการต่างๆทางออนไลน์และแอปพลิเคชันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของผู้บริโภคได้ทัน สิ่งนี้สอดคล้องกับปัจจุบันที่ทุกคนสามารถหาซื้ออุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทั้งมือถือ คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต ฯลฯ ได้ในราคาที่เอื้อมถึง อีกทั้งค่ายบริการเครือข่ายโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตต่างออกแพ็คเกจราคามาให้โดนใจผู้ใช้ทุกระดับ เรียกว่ายุคนี้ใครๆก็ใช้อินเทอร์เน็ตได้ทั้งนั้น
สุดท้ายแล้วหากเราสังเกตุดีๆ เราจะพบอีกด้วยว่า ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ถึงตอนนี้เราไม่อาจหลีกเลี่ยงเรื่องของการโจมตีทางไซเบอร์ได้อีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะเมื่อเรากำลังเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เรามีโอกาสที่จะกลายเป็นเหยื่อได้ในวันใดวันหนึ่ง เพราะการทำงานของอาชญากรทั้งหมดอาศัยการโจมตีอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทุกอย่างที่เราใช้ หลักๆเลยถ้าเราใช้คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต ฯลฯ ทุกวันผ่านช่องทางเหล่านี้ ได้แก่ 1. Social ต่างๆ ทั้ง Facebook Youtube หรือ Instagram ฯลฯ 2. สมาร์ทโฟน 3. ระบบการรับฝากข้อมูลออนไลน์ เช่น Cloud 4. การลงข้อมูลส่วนตัวก็ดี หรือแม้แต่การหาข้อมูลต่างๆ ทั้งหมดคือหนทางที่จะทำให้เราจะกลายเป็นผู้เสียหายได้ ฉะนั้นในยุคที่เราหาข้อมูลได้ง่าย เรายิ่งต้องระวังด้วยการศึกษาทำความเข้าใจและอัพเดทเรื่องราวต่างๆให้ทันท่วงที การมีเพื่อนที่มีความรู้ทางด้านนี้ หรือมีผู้เชี่ยวชาญที่ช่วยเป็นที่ปรึกษาได้ก็น่าจะดีไม่น้อย ส่วนในกลุ่มธุรกิจหรือองค์กร คุณยิ่งต้องให้ความสำคัญอย่างใหญ่หลวง เพราะธุรกิจจะเชื่อถือได้ก็ต่อเมื่อการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนกับลูกค้าของคุณนั้นมีความน่าเชื่อ และสามารถสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยทางข้อมูลของลูกค้าและธุรกิจเป็นหลัก
ในบทความหน้าเราจะมาพูดถึง 10 ข้อควรรู้ที่จะช่วยให้คุณรับมือกับภัยทางไซเบอร์ได้ดีขึ้นค่ะ
เนื้อหา: มทนา วิบูลยเสข
อัพเดท: 14-02-2018
Digital Marketing Executive | Aware Group ตั้งใจที่จะส่งมอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถศึกษาร่วมกันได้ ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจด้านเทคโนโลยี มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันนะคะ