‘เชียงใหม่ในม่านฝุ่น’ เข้าใจปัญหาของเมืองด้วยกัน

ครั้งหนึ่งในเดือนมีนาคม 2550  สถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือของประเทศไทยเป็นข่าวไปทั่วโลก เกิดกลุ่มหมอกควันปกคลุมหลายพื้นที่ในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน และในวันที่มีหมอกควันปกคลุมพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด กรมควบคุมมลพิษรายงานปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 10 ไมครอนหรือ PM ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ ณ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ได้ถึง 383 ไมโครกรัมต่อปริมาตรอากาศ 1 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงกว่าระดับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่กำหนดไว้กว่า 3 เท่าตัว (ค่าเฉลี่ยในช่วง 24 ชั่วโมงกำหนดไว้ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ตอนนั้นนับเป็นสถิติสูงสุดของประเทศไทยเท่าที่ได้มีการตรวจวัด จนในรัฐบาลสมัยพล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ประกาศให้ปัญหาหมอกควันภาคเหนือเป็นวาระแห่งชาติ ผ่านมาถึงตอนนี้ 12 ปีพอดี

ข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ ดร.มงคล รายะนาคร

ไฟไหม้ป่าบริเวณไฟดอยสุเทพ เมื่อเวลา 15.30 น.ถ่ายบริเวณสนามสมโภชน์เชียงใหม่เจ็ดร้อยปี ในวันที่ 25 มีนาคม 2550 ที่มา: oknation

ข้อมูลการเดินบัญชี (Transaction) ถูกเริ่มต้นสร้างขึ้น รายการจะแจ้งว่าตัวเลขทั้งหมดที่เกิดขึ้นตั้งแต่จำนวนเงินที่ถูกต้องที่มีอยู่ในบัญชีของ A ถูกส่งไปให้บัญชีของ B ที่แสดงจำนวนเงินที่มีอยู่เช่นกัน โอนเท่าไหร่ ตัวเลขขึ้นตามนั้น ตรงนี้ทำให้เราเห็นรายการทั้งหมดที่เป็นยอดบวกลบที่ถูกต้อง ทำให้เราสามารถตรวจสอบย้อนกลับเรื่องที่มาของเงินได้ตลอด โดยทั้งหมดในรายการนี้จะถูกเก็บไว้ใน สมุดจดบัญชี (Public Ledger) แล้วส่งข้อมูลแบบที่ยังไม่ได้ยืนยันความถูกต้อง (Unconfirmed Transaction) ให้ผู้ใช้ทุกคน

เรื่องเก่าวนกลับมาใหม่ราวกับหาทางออกไม่เจอ

เรื่องนี้เป็นปัญหาที่วนเวียนมาทุกปีช่วงปลายฤดูหนาวก่อนเข้าฤดูแล้ง (ต้นกุมภาพันธ์) ราวกับเป็นฤดูกาลหนึ่งของภาคเหนือ ชาวเชียงใหม่จำต้องยอมรับและจำทนกับสภาพอากาศอย่างนี้จนเรียกกันติดปากว่า ‘ฤดูหมอกควัน’ มานานกว่า 10 ปี ถ้าคุณอยู่ที่นั่นในช่วงเวลานี้ คุณสามารถวัดความหนาแน่นของกลุ่มหมอกควันด้วยตาเปล่า สิ่งที่เป็นความคุ้นชินของชาวบ้าน คือ วัดจากการมองเห็นพระธาตุดอยสุเทพฯ วันที่อากาศดีหากคุณมองไปที่ยอดดอย คุณจะพบว่า วัดพระธาตุดอยสุเทพสามารถมองเห็นได้จากที่ไกลๆหลายๆที่ แต่วันนี้ ‘ดอยสุเทพจางหายไปแล้ว’ จากท้องฟ้าที่เคยเป็นสีฟ้าตอนนี้กลายเป็นท้องฟ้าสีส้ม

สภาพท้องฟ้าจากสะพานนวรัตน์ มุ่งหน้าไปทางดอยสุเทพฯ ภาพจากข่าว innnews.co.th วันที่ 30 มีนาคม 2562

ปัจจุบันหมอกควันที่มีค่าฝุ่นละอองในอากาศหนาแน่นอยู่เหมือนเดิม ทั้งค่า PM10 และมีค่าPM2.5 สูงเกินมาตรฐานปกคลุมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง ทุกปีมีแต่จะรุนแรงขึ้น สาเหตุที่เรารับรู้ทั่วไปเกิดจากมลภาวะทางอากาศจากยานพาหนะ การไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่เหมาะสมและเพียงพอต่อชาวบ้านทำให้ทุกบ้านต้องมีรถส่วนตัวใช้ การขยายตัวของเมือง ความเชื่อเดิมๆของชาวบ้านและเกษตรกรในการเผาทำลายใบไม้ในบริเวณบ้าน ไปจนถึงการลักลอบเผาป่าเพื่อล่าสัตว์ และการเผาเพื่อเตรียมพื้นที่ทางการเกษตรของคนพื้นที่ ทำให้เกิดการสะสมของกลุ่มควันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับกระแสลมมีกำลังอ่อนตัวช่วงต้นปีไม่สามารถพัดกลุ่มควันที่สะสมอยู่ให้ระบายออกจากพื้นที่ที่เป็นเหมือนแอ่งกระทะได้ จนส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชนโดยทั่วไป

สาเหตุสำคัญที่เป็นปัญหาที่สุดในตอนนี้คืออะไร?

ข้อมูลจากหลายแห่งระบุว่าปัญหาใหญ่เกิดจาก ‘การเผาไร่ข้าวโพด’ ที่เกิดในที่โล่งทั้งในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรกรรม กินพื้นที่รวมแล้วขนาดหลายแสนไร่ขึ้นไป โดยปกติแล้วบนพื้นที่สูงของภาคเหนือหลายจังหวัดรวมถึงเชียงใหม่ บริเวณส่วนยอดของเทือกเขายังคงเป็นป่าไม้ธรรมชาติ พื้นที่ขนาดใหญ่ถัดมาเป็นที่ดินที่ถูกใช้ในการทำไร่ข้าวโพด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยในพื้นที่ป่ามีปริมาณลดลงกว่า 14,000 ตารางกิโลเมตร ส่วนพื้นที่ทางการเกษตรนั้นกลับเพิ่มขึ้นเกือบ 13,000 ตารางกิโลเมตร

‘การเผาไร่ข้าวโพด’ จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักของการเกิดปัญหาหมอกควัน เพราะข้าวโพดถูกนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสำหรับสัตว์แทนที่เศษข้าวหักเนื่องจากมีราคาถูกกว่า เพื่อให้สอดรับกับความต้องการของจำนวนประชากรในประเทศไทยเพิ่มตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว บวกกับความต้องการในการบริโภคเนื้อสัตว์ของคนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้การปลูกข้าวโพดจึงต้องขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตามไปด้วย

คุณอาจสงสัยว่าจะปลูกข้าวโพดแล้วทำไมต้องเผา? เพราะหลังเก็บเกี่ยวข้าวโพดเสร็จ ชาวไร่ต้องรีบกำจัดซากไร่ ตอซังข้าวโพด ฯลฯ แต่ด้วยวิธีการที่ง่าย รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนที่สุดคือ การเผาทิ้ง ในช่วงระยะเวลา 10 ปี (2549-2558) จังหวัดแม่ฮ่องสอนพบการเผาไหม้ซ้ำตำแหน่งเดิมมากที่สุด รองลงมาคือจังหวัดตาก เชียงใหม่ และน่าน นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นซ้ำๆเดิมๆวนอยู่อย่างนี้ทุกปี

ข้อมูลจาก สรุปผลโครงการวิจัย “การติดตามตรวจสอบการเผาในที่โล่งในภาคเหนือของประเทศไทยฯ”

ลำพังแค่การเผาไร่ข้าวโพดในภาคเหนือสร้างวิกฤตได้หรือ?

หากเรื่องนี้เกิดขึ้นแค่ภายในประเทศ ฤดูหมอกควันอาจกินเวลาไม่ถึง 2-3 เดือน แต่ต้นตอใหญ่คือการเผาที่เกิดจากเกษตรพันธสัญญาที่ทุนข้ามชาติเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งต่อไปขายยังประเทศจีน (คลิกอ่านต่อได้ที่นี่) ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนนี้ไม่ใช่ปัญหาใหม่ อย่างไรก็ตาม มิตินี้ยังไม่ได้รับการพูดถึงเท่าที่ควร

หากพิจารณาสถิติการเกิดฮอตสปอต (Hotspot) ซึ่งเป็นจุดที่มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยสูงกว่าพื้นที่ทั่วๆไปจากภาพถ่ายดาวเทียม แม้บริเวณที่เป็นจุดฮอตสปอตจะไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นจุดที่เกิดไฟป่า เป็นจุดที่มีศักยภาพที่อาจจะเกิดไฟป่า หรือเป็นจุดที่มีการเผาทำลายวัชพืชเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก? แต่เป็นที่ยืนยันแล้วว่าจำนวนฮอตสปอตนั้นแปรผันตามมลพิษทางอากาศ ดังนั้น พื้นที่ที่มีจำนวนฮอตสปอตมาก หมายความว่าพื้นที่นั้นเป็นจุดกำเนิดของมลพิษทางอากาศสูงนั่นเอง

ภาพจุดฮอตสปอต ในวันที่ 3 เมษายน 2562 จาก asmc.asean.org

เมื่อพิจารณาสถิติย้อนหลังทั้งรายปีและรายเดือนพบว่า จำนวนและความหนาแน่นของฮอตสปอตในประเทศพม่า โดยเฉพาะในบริเวณที่ติดกับภาคเหนือของประเทศไทย คือในบริเวณพื้นที่รัฐฉาน* มีจำนวนฮอตสปอตสูงกว่าบริเวณภาคเหนือของไทยอย่างมีนัยสำคัญ และมีจำนวนมากกว่า 2 เท่าของจำนวนฮอตสปอตที่เกิดในประเทศไทยแทบทุกปี ข้อมูลนี้อาจทำให้พออนุมานได้ว่า หากเราแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จระดับที่ไม่มีฮอตสปอตเกิดขึ้นเลยในประเทศไทย เราก็จะลดสาเหตุได้แค่ไม่เกินหนึ่งในสามเท่านั้นเอง

*ในปี 2557 ข้อมูลจากทางการของรัฐฉานระบุว่า พื้นที่ปลูกข้าวโพดในเขตฉานเหนือและฉานใต้รวม 460,000 เอเคอร์ (1.15 ล้านไร่) แต่ในรายงานของวู้ดส์ระบุว่าจำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่บริษัทจำหน่ายแปรกลับไปเป็นพื้นที่ปลูกได้ประมาณ 750,000 เอเคอร์ (1.875 ล้านไร่) และพบว่าในรัฐฉานมีการบุกรุกพื้นที่ป่าสูงที่สุดในประเทศพม่า คนในพื้นที่ยังต้องพึ่งพาเกษตรพันธสัญญา เนื่องจากไม่มีต้นทุนในการยังชีพมากนัก ด้วยเหตุนี้หมอกควันที่เกิดจากการเผาป่าเพื่อทำกิน (เป็นวิธีที่ต้นทุนต่ำสุด) จึงยังคงมีอยู่ต่อไปในรัฐฉานต่อไป

 ข้อมูลจาก  TCIJthai.com

สถิติย้อนหลังทั้งรายปีและรายเดือนพบว่าจำนวนและความหนาแน่นของฮอตสปอตในประเทศพม่าสูงกว่าบริเวณภาคเหนือของไทยอย่างมีนัยสำคัญและมีจำนวนมากกว่า 2 เท่าของจำนวนฮอตสปอตที่เกิดในประเทศไทยแทบทุกปี
ที่มา TCIJthai.com

ชาวเชียงใหม่อยู่กันอย่างไร?

จากเรื่องระดับจังหวัดกลายเป็นวาระแห่งชาติที่แก้ไขไม่ได้กว่า 12 ปี กระนั้นก็ตาม ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ในขณะที่หน้ากากกันฝุ่นประเภท N95 เป็นหนึ่งในรายการของใช้จำเป็นของคนกรุงเทพฯ เมื่อต้องเผชิญหน้ากับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 แต่สำหรับคนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เอง การตื่นตัวเพื่อรับมือกับปัญหายังมีไม่มากนัก แม้ว่าในตัวจังหวัดผู้คนส่วนใหญ่จะใส่หน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แต่ในขณะเดียวกันผู้คนที่อาศัยอยู่ต่างอำเภอยังไม่ได้รับความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นและไม่ได้รับความรู้เกี่ยวกับชนิดหน้ากากที่จำเป็น นอกจากนั้นพวกเขายังไม่คุ้นชินกับการใส่หน้ากากและยังมองว่าเป็นเรื่องน่าอายที่จะต้องใส่ตลอดเวลาที่ออกไปข้างนอก

ในส่วนของการเคลื่อนไหว มีประชาชนหลายกลุ่มออกมาพยายามเรียกร้องหน่วยงานราชการให้เร่งดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ฝุ่น เพื่อที่จะช่วยหยุดหรือบรรเทาวิกฤตนี้ให้ได้ บางกลุ่มออกมาระดมทุนหาเงินเพื่อซื้อหน้ากากแจกให้คนในพื้นที่ห่างไกลพร้อมให้ความรู้ หลายโรงเรียนมีการจัดซื้อเครื่องกรองอากาศมาติดไว้ที่โรงเรียน เรียกได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่ทราบข่าวพยายามช่วยเหลือตัวเองและคนรอบข้างให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปให้ได้

นอกจากนั้นยังมีกลุ่มคนที่สร้างระบบแจ้งเตือนคุณภาพอากาศภาคประชาชน “People AQI” ใช้เอง โดยมีไฮไลท์คือ Dust Boy อุปกรณ์ตรวจวัดคุณภาพอากาศและรายงานผลด้วย PM2.5 AQI แบบเรียลไทม์ เพื่อให้ทุกคนที่ทราบข่าวสามารถเตรียมตัวรับมือกับมลพิษทางอากาศได้อย่างถูกต้อง ถือว่าเป็นครั้งแรกและเมืองแรกของโลกที่ภาคประชาชนร่วมมือกันสร้างระบบเฝ้าระวัง วัดและเตือนภัยคุณภาพอากาศด้วยตัวเองโดยใช้ค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO)

การรายงานผลคุณภาพอากาศที่รวมการคำนวน PM2.5 บนเว็บไซต์ //www.cmuccdc.org แบบเรียลไทม์ ต่างจากของกรมควบคุมมลพิษที่รายงานแค่ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และไม่รวม PM2.5

การรับมือของภาครัฐ

ระยะแรก ระหว่างวันที่ 12-14 ก.พ. 2562 เกิดการเผาในพื้นที่ทั้ง จ.เชียงใหม่ และจังหวัดใกล้เคียง และมีการเผาไร่อ้อยในทางตอนล่างของภาคเหนือ ลมฝ่ายใต้ได้พัดกลุ่มควันเข้ามารวมตัวในพื้นที่ จ.ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ มีผลทำให้ปริมาณฝุ่นควันสะสมจนเกินค่ามาตรฐานในระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จ.เชียงใหม่จึงได้ออกประกาศห้ามการเผาทุกชนิด ตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. จนสถานการณ์คลี่คลายดีขึ้น

 

ระยะที่ 2 ระหว่างวันที่ 12-17 มี.ค. 2562 มีสาเหตุจากการเผาป่าทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ประกอบกับมีความกดอากาศสูงกำลังอ่อนปกคลุมพื้นที่และมีแนวลมฝั่งตะวันตกพัดพาฝุ่นควันนอกประเทศเข้ามา ภาวะหมอกควันจึงตกค้างในพื้นที่จนส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน จ. เชียงใหม่จึงจัดกองกำลังผสมออกลาดตระเวนเพิ่มเติม เพื่อป้องกันปราบปรามการลักลอบเผาป่า และจับกุมผู้กระทำความผิด รวมทั้งจัดหน่วยฉีดพ่นละอองน้ำสร้างความชุ่มชื้นในอากาศในบริเวณพื้นที่นครเชียงใหม่ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 25 อำเภอ จัดรถน้ำฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศเพิ่มเป็น 3 ช่วง คือ 06.00 น., 09.00 น. และ 14.00 น. และขอความร่วมมือภาคเอกชนที่มีอาคารสูงช่วยฉีดพ่นละอองน้ำบนยอดตึกเพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศ

นอกจากนี้เพิ่มการสร้างการรับรู้เรื่องการป้องกันตัวเองจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยหน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) และ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม) ออกรณรงค์ให้ความรู้พร้อมแจกจ่ายหน้ากากอนามัยให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เพื่อดูแลสุขภาพของตนเอง

 

ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. จนถึงขณะนี้ สภาพอากาศภาคเหนือตอนบน มีแนวลมกำลังอ่อนพัดมาจากทิศตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งพัดพาฝุ่นควันจากทิศเหนือของประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาปกคลุมจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง และครั้งนี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น โดยพบว่ามีความหนาแน่นของปริมาณฝุ่นควันมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม จนคุณภาพอากาศเข้าสู่ภาวะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม จ. เชียงใหม่จึงได้เริ่มผนึกกำลังกับหน่วยงานภาครัฐ นำรถบรรทุกน้ำฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศทุกชั่วโมง และประสานการประปาส่วนภูมิภาค และสถาบันการอาชีวะศึกษาติดตั้งระบบพ่นละอองน้ำบริเวณสะพานนวรัฐ ซุ้มประตูท่าแพ บริเวณคูเมือง และลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เพื่อเพิ่มความชื้นในอากาศให้ครอบคลุมบริเวณมากขึ้น ในขณะที่หน่วยงานสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยดูแลสุขภาพของประชาชน โดยแจกหน้ากากอนามัยชนิดป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก ไปแล้วมากกว่า 1.2 ล้านชิ้น และให้อำเภอทุกแห่งเพิ่มความเข้มข้นในการป้องกันการเผาป่าอย่างเข้มงวด โดยเพิ่มการตรวจตรา ลาดตระเวนและจับกุมดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิดอย่างจริงจัง นอกจากนี้ยังจัดให้มี Safety Zone ที่อาคาร SME ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 70 พรรษา เพื่อใช้เป็นศูนย์พักพิงสำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ เด็ก และผู้สูงอายุ ได้พักอาศัยในห้วงที่มีสภาพฝุ่นควันหนาแน่นรุนแรง

ข้อมูลจาก Thaipbs.com

การเผยแพร่ข้อมูลเรื่องมลพิษทางอากาศ

จังหวัดเชียงใหม่ประสบปัญหาหมอกควันมานานกว่า 10 ปี มีการใช้ทั้ง “ดอยสุเทพ index” หรือการวัดด้วยตาว่า ดอยสุเทพอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่นั้นจางหายไปในม่านฝุ่นควันมากน้อยแค่ไหน และในภาคส่วนของสาธารณสุขเองก็มีการประเมินคุณภาพอากาศด้วยสายตาเช่นกัน แต่นั่นไม่เพียงพอ ประชาชนต้องการข้อมูลที่ชัดเจนถึงที่มาที่ไปและผลจากการวัดคุณภาพอากาศ สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือ การประชาสัมพันธ์สร้างการตระหนักรู้ไปให้ถึงประชาชนทุกคน เพื่อที่จะนำพวกเขาไปสู่การป้องกันสุขภาพ เข้าใจ และร่วมคิดการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ตรงจุดยิ่งขึ้น รวมทั้งควรเปิดพื้นที่ให้ประชาชนร่วมประชุมและแสงความคิดเห็นในการรับมือกับสถานการณ์รุนแรงนี้ร่วมกับภาครัฐและเอกชนได้

 

สำหรับภาครัฐแล้ว แม้จะมีการร่วมมือกับเอกชนบูรณาการการแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง มีการณรงค์อย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งมาตรการลงโทษผู้ที่เผาป่า ผู้เตรียมปรับพื้นที่ทำการเกษตรด้วยการเผาเศษวัสดุเหลือใช้และวัชพืช และมาตรการส่งเสริมให้มีการรักษาป่า ปลูกป่า และอื่นๆอีกมากมาย เรื่องนี้ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาภายในชาติ แต่ต้องร่วมกันแก้ในระดับภูมิภาค เพราะแม้ว่าเราจะเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการกับควันพิษที่มีในท้องถิ่นได้ดีเพียงใด แต่หากต้นกำเนิดของมลพิษทางอากาศยังคงมาจากประเทศเพื่อนบ้าน เราคงไม่สามารถจัดการกับปัญหาดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพได้ ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ปัญหาแบบร่วมด้วยช่วยกัน และพยายามหาทางออกร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

บทความนี้ต้องการส่งต่อเรื่องราวที่มีผลกระทบต่อเพื่อนๆ พี่น้องและครอบครัวของเราในภาคเหนือ ในฐานะที่ Aware เกิดและเริ่มต้นธุรกิจที่จังหวัดเชียงใหม่ เมืองนี้เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของเรา ที่ต้องการความรักและการดูแลเหมือนกับบ้านหลังอื่นๆ เราจึงอยากร่วมรณรงค์เรื่องวิกฤตฝุ่นของเชียงใหม่และจังหวัดอื่นๆในภาคเหนือนี้ เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงปัญหาและพยายามผลักดันเรื่องราวออกไปให้ผู้คนได้เข้าใจมากขึ้น และรับรู้ว่าจะไม่ได้เป็นแค่ปัญหาที่มาแล้วผ่านไปเหมือนทุกๆปี แต่ผู้คนควรใส่ใจและมองเห็นถึงปัญหาที่แท้จริงไปพร้อมๆกัน

 

#ฝุ่นเหนือ

#ฝุ่นละอองPM25

#วิกฤตฝุ่นเชียงใหม่

#ฝุ่นเชียงใหม่

Tags

What do you think?

Related articles