Digital Twin คืออะไร?
Digital Twin คือแบบจำลองเสมือนของวัตถุทางกายภาพที่ถูกสร้างขึ้นจากการบูรณาการเทคโนโลยีหลายอย่าง เช่น AI Algorithm, IoT, Cloud Computing และเทคโนโลยีอื่น ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างแบบจำลองฝาแฝดที่สามารถแสดงรายละเอียดและคุณสมบัติเกือบเทียบเท่าวัตถุจริง และยังสามารถแสดงคุณลักษณะในอดีตและให้ข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตโดยอาศัยหลักการวิเคราะห์ข้อมูล
การสร้าง Digital Twin
Digital Twin ที่มีประสิทธิภาพจะต้องมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับวัตถุทางกายภาพมากที่สุดเพื่อให้ได้มาซึ่งผลลัพธ์ที่แม่นยำและสามารถตอบสนองการใช้งานและจุดประสงค์ของผู้ใช้ได้
IBM กล่าวว่า การสร้าง Digital Twin สามารถทำได้จากการบูรณาการเทคโนโลยีหลัก 3 ชนิดเข้าด้วยกัน ได้แก่
1) เทคโนโลยีการสร้างแบบจำลองและวัตถุเสมือน ที่สามารถนำเสนอข้อมูลไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ 3D หรือวัตถุเสมือน
2) เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และ IoT ที่ถูกนำมาใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลทางกายภาพและข้อมูลที่จำเป็นจากอุปกรณ์ต้นแบบ
3) ระบบการประมวลผลคุณภาพสูงที่สามารถวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูล รวมถึงตรวจพบข้อผิดพลาดและโอกาสในการพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบ
การใช้งาน Digital Twin ในโลกธุรกิจ
1) ด้านอุตสาหกรรมการผลิต
จากข้อมูลของ Deloitte Digital Twin ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสหากรรมการผลิตในหลายด้าน ตัวอย่างเช่น
- การควบคุมคุณภาพของสินค้า: ด้วยคุณสมบัติของ Digital Twin ที่สามารถคาดการณ์และตรวจพบแนวโน้มที่อาจเกิดความผิดพลาดระหว่างการผลิต ผู้ใช้งานจึงสามารถทราบถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ (New Product Introduction): อุตสาหกรรมการผลิตสามารถนำเสนอสินค้าใหม่ที่เกิดจากการรวบรวมข้อมูลทั้งในอดีตและปัจจุบันเพื่อพัฒนาสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุดในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนในการผลิตสินค้าทดลองและยังสามารถคำนวณ lead time ในการผลิตได้อีกด้วย
2) ด้านอุตสาหกรรมอวกาศและยานยนต์
NASA กล่าวว่าในปัจจุบันการพัฒนายานอวกาศยังมีข้อจำกัดทางกายภาพหลายประการ เนื่องจากการประกอบชิ้นส่วนจะต้องใช้อุณหภูมิสูงและเกิดมลภาวะเสียงทำให้นักวิศวกรสามารถทดลองประกอบยานยนต์ในห้องแล็ปได้ Digital Twin จึงถูกนำมาใช้งานเพื่อพัฒนายานอวกาศโดยมีบทบาทในการช่วยวิเคราะห์ คำนวณ และออกแบบยานยนต์ นอกจากนี้ในการปฏิบัติภารกิจจริง Digital Twin สามารถคำนวณความเสี่ยงและอัตราความสำเร็จของภารกิจ พร้อมทั้งประเมิณความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นและนำเสนอวิธีลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น
3) ด้านสุขภาพ
ในด้านสุขภาพ Digital Twin ถูกนำมาใช้งานในการสร้างร่างกายเสมือนของผู้ป่วย โดยจะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคและการรักษา รวมถึงพฤติกรรมและการดำเนินของผู้ป่วย ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบกับผู้ป่วยในกรณีที่คล้ายกันเพื่อค้นหาวิธีรักษาโรคที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
วารสาร Becker’s Hospital Review ได้ยกตัวอย่างการใช้งาน Digital Twin โดยการติดตั้งเซ็นเซอร์เข้ากับศีรษะของผู้ป่วยเพื่อวัดความดันโลหิต เมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์กับข้อมูลประกอบอื่นๆ เช่น การบริโภคอาหารและลักษณะการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย ทำให้สามารถสร้างแผนสุขภาพที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้
นอกจากนี้บริษัทเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพอย่าง Philips ก็ได้นำเสนอไอเดียแบบเดียวกันในการสร้างร่างกายเสมือนของผู้ป่วยเพื่อแก้ปัญหาด้านสุขภาพเป็นรายบุคคล รายละเอียดสามารถรับชมได้ตามวิดีโอในลิงก์ที่แนบมานี้
อนาคตของ Digital Twin
เนื่องจาก Digital Twin มีคุณสมบัติเด่น่ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกและสามารถตรวจพบความผิดพลาดพร้อมนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการนำเทคโนโลยีนี้มาประยุกต์ใช้ ไม่เพียงแค่ใช้ในด้านอุตสาหกรรม แต่เป็นประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของมนุษย์ทั้งด้านสุขภาพและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) สำหรับ Smart City เพื่อปรับปรุงการวางผังเมือง แก้ปัญหาจราจร และอื่น ๆ
Digital Marketing Executive | Aware Group ตั้งใจที่จะส่งมอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถศึกษาร่วมกันได้ ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจด้านเทคโนโลยี มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันนะคะ