“นิตยสาร TIME ประกาศรายชื่อผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก 100 คนประจำปี 2018 ปรากฎว่ามีสุภาพสตรีติดโผมากที่สุดในประวัติศาสตร์ถึง 45 คน”
“นิตยสาร Forbes ได้จัดอันดับ The World’s 100 Most Powerful Women 2018 (100 อันดับสตรีผู้ทรงอิทธิพลของโลกปี 2018)“
คุณมองเห็นอะไรบ้างจากข้อความเหล่านี้?
ในปัจจุบัน เรื่องการงานยังคงเป็นเรื่องหนักใจของผู้หญิงหลายๆคน เนื่องด้วยในหลายๆองค์กรยังมีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังอยู่ ในวงการไอทีก็เช่นกัน ที่ปัจจุบันดูเหมือนจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงบางส่วนยังต้องใช้ความพยายามอย่างหนัก (มากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำในบางครั้ง) เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าพวกเธอนั้นก็มีความสามารถไม่ต่างไปจากผู้ชายเลย
ในบทความนี้เราอยากแนะนำ เชอริล แซนด์เบิร์ก (Sheryl Sandberge) หนึ่งในผู้หญิงที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งวงการไอที เธอเป็น 1 ใน 100 คนของ THE WORLD’S MOST POWERFUL WOMEN 2018 โดยนิตยสาร Forbes และในอีกด้านหนึ่งเธอมีบทบาทในการให้คำปรึกษาแก่ผู้หญิงทำงานในเรื่องการสร้างสมดุลย์ระหว่างอาชีพการงานกับครอบครัว จนได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างแห่งความสำเร็จของผู้หญิงยุคใหม่ เพื่อที่จะจุดประกายแรงบันดาลใจให้แก่สาวๆชาวไอทีได้รู้สึกฮึกเหิม เกิดความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะสร้างเส้นทางของตัวเองให้เป็นดั่งฝันเหมือนกับเรื่องราวของแซนด์เบิร์ก เราจึงอยากชวนคุณมารู้จักเธอและเส้นทางแห่งความสำเร็จของผู้หญิงคนนี้กัน
ครอบครัว
แซนด์เบิร์ก เกิดในปี 1969 เติบโตในกรุงวอชิงตัน ดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเธออายุได้เพียง 2 ขวบ ครอบครัวของเธอย้ายไปอยู่ที่ฟลอริดา คุณพ่อของเธอเป็นจักษุแพทย์ ส่วนคุณแม่ก็เป็นอาจารย์สอนภาษาฝรั่งเศสในวิทยาลัย เรียกได้ว่าเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ครอบครัวหนึ่ง
การศึกษา
ในช่วงไฮสคูล แซนด์เบิร์กเข้ารับศึกษาที่ North Miami Beach High School การเรียนของเธอนั้นอยู่ในอันดับต้นๆของชั้นเสมอ ตอนที่เธอเรียนอยู่เกรด 10 เธอได้รับเลือกให้เป็นประธานรุ่นและสมาชิกของ National Honor Society เมื่อเรียนอยู่เกรด 12 แซนด์เบิร์กได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารของรุ่น
ในปี 1987 แซนด์เบิร์กเข้ารับการศึกษาระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัย Harvard และสำเร็จการศึกษาในปี 1991 พร้อมกับรางวัลผลการเรียนยอดเยี่ยมด้านเศรษฐศาสตร์ ในขณะที่กำลังศึกษาอยู่นั้นได้ก่อตั้งองค์กร Woman in Economic and Government ด้วย
หลังจากนั้นเธอได้มีโอกาสเข้าพบ ศาสตราจารย์ลาร์รี่ ซัมเมอรส์ (Larry Summers) อาจารย์และนักเศรษฐศาสตร์ผู้มีผลงานยอดเยี่ยมมากมายระดับประเทศและถูกรัฐบาลเรียกใช้ตัวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งภายหลังกลายมาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้านธีสิส (Thesis) ให้กับแซนด์เบิร์ก และรับเธอเข้ามาร่วมทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยนักวิจัยที่ World Bank ซึ่งเป็นงานวิจัยในโครงการด้านสุขภาพของประเทศอินเดีย ต่อการรับมือกับโรคเรื้อน, โรคเอดส์, และผู้ที่มีภาวะด้านการมองเห็นเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี
ในปี 1993 แซนด์เบิร์กศึกษาต่อในระดับปริญญาโทสาขา MBA ที่มหาวิทยาลัย Harvard ซึ่งภายในปีแรกเธอก็ได้รับทุนการศึกษาจากทางมหาวิทยาลัย และในปี 1995 เธอก็สำเร็จการศึกษาด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1
การทำงาน
หลังจากที่เธอสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาโท ในปี 1995 แซนด์เบิร์กได้เริ่มงานด้วยการเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการให้กับบริษัท McKinsey & Company เป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี
ในช่วงปี 1996-2001 เธอได้เข้ามาทำงานกับศาสตราจารย์ลาร์รี่ ซัมเมอรส์ อีกครั้ง ซึ่งตอนนั้น ศาสตราจารย์ลาร์ลี่ดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการกระทรวงการคลังสหรัฐ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีบิล คลินตัน แซนด์เบิร์กจึงมีโอกาสได้ช่วยงานที่กระทรวงการคลังในด้านการยกเลิกหนี้ในประเทศที่กำลังพัฒนา เนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย (Asian financial crisis)
หลังจากนั้นได้เข้ามาทำงานกับบริษัทเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Google โดยรับผิดชอบงานด้านการขายโฆษณาและการพิมพ์โฆษณาสินค้าทางออนไลน์ ตลอดจนการปฏิบัติการด้านการขายสินค้าอุปโภคบริโภคของ Google และ Google Book Search ระหว่างที่เธอทำงานกับ Google เธอสร้างทีมขายและโฆษณาให้เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 4 คน จนกลายมาเป็น 4,000 คน (ต้องเก่งและแกร่งแค่ไหนถึงสามารถขยายทีมได้ใหญ่ขึ้นมากขนาดนี้)
ต่อมาในปี 2007 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งและเป็นประธานบริหารเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Facebook มีโอกาสพบแซนด์เบิร์กที่งานปาร์ตี้คริสมาสต์ของ แดน โรเซนไวก์ (Dan Rosensweig) ในเวลานั้นซักเคอร์เบิร์กยังไม่ได้เปิดรับตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการอย่างเป็นทางการ แต่หลังจากการพบกันในงานเขาคิดว่าแซนด์เบิร์กนั้นเหมาะกับตำแหน่งนี้สุดๆ ต่อมาในปี 2008 เว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Facebook ก็ได้ประกาศออกมาว่าได้ตัวแซนด์เบิร์กเข้ามาร่วมงานองค์กรในฐานะหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ และเธอก็ได้ออกจากบริษัทเดิมอย่าง Google อย่างเป็นทางการ
ภายหลังจากที่แซนด์เบิร์กได้ร่วมงานกับ Facebook เธอเริ่มคิดหาช่องทางว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้ Facebook ได้รับผลกำไร ก่อนหน้าที่บริษัท Facebook จะมีเธอเข้ามาร่วมงานนั้น สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆเลย คือการสร้างเว็บไซต์ให้เจ๋งที่สุด ต่อมาก็คือ การคาดการณ์ผลกำไร และดำเนินการไปตามแนวทางที่วางไว้เพื่อไปให้ถึงจุดหมาย แต่หลังจากที่เธอเข้ามาทำงานนั้น เหล่าผู้บริหารของ Facebook ก็ตกลงกันว่าจะลองใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ Facebook เพื่อให้เป็นที่รู้จัก โดยที่การโฆษณานั้นจะต้องมีความรอบคอบมากที่สุด
ในปี 2010 Facebook ได้รับผลกำไรมากมาย และแซนด์เบิร์กก็ได้มองเห็นกระบวนการทำงานทางธุรกิจของบริษัทอย่างครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นการขาย การตลาด การพัฒนาธุรกิจ ทรัพยากรบุคคล นโยบายสาธารณะ และการติดต่อสื่อสาร และในที่สุด ในปี 2012 แซนด์เบิร์กก็ได้กลายมาเป็น 1 ใน 8 ของคณะกรรมการบริหารบริษัท (และเป็นผู้หญิงคนแรก) และมีส่วนช่วยผลักดัน Facebook เข้าตลาดหุ้นได้สำเร็จจนทำให้มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์กกลายเป็นมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากที่สุดอันดับ 4 ของโลกในขณะนั้น
ภายหลังในเดือนเมษายนปี 2014 มีการรายงานว่า แซนด์เบิร์กขายหุ้น Facebook ของเธอเองไปมากกว่าครึ่งหนึ่ง ตั้งแต่บริษัทได้มีการจดทะเบียนเป็นมหาชน ในช่วงเวลาที่บริษัทจดทะเบียนเป็นมหาชน แซนด์เบิร์กถือครองหุ้นอยู่ประมาณ 41 ล้านหุ้นภายในบริษัท แต่หลังจากที่มีการขายหุ้นนั้น หุ้นของเธอจึงลดลงมาอยู่ที่ 17.2 ล้านหุ้น และมีสัดส่วนการถือหุ้น 0.5% ในบริษัท ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ชีวิตส่วนตัว
แซนด์เบิร์กแต่งงานครั้งแรกเมื่อปี 1993 กับเบรน คราฟท์ (Brian Kraff) แต่ได้หย่ากันในปีถัดไป ต่อมาในปี 2004 เธอได้แต่งงานอีกครั้งกับเดฟ โกลด์เบิร์ก (Dave Goldberg) เจ้าของเว็บทำโพลสุดฮิต อย่าง Surveymonkey และมีลูกที่น่ารักด้วยกัน 2 คน สำหรับเรื่องครอบครัวแล้ว แซนด์เบิร์กกับสามีมีการพูดคุยกันเกี่ยวกับเรื่องความเท่าเทียมกันในความเป็นพ่อแม่ นั่นหมายถึงว่าเมื่อเป็นครอบครัวเดียวกันแล้วนั้น ทั้งสองคนจะไม่ผลักภาระความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันดูแล
แต่ในเดือนพฤษภาคม ปี 2015 เกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้น เมื่อสามีของเธอได้ประสบอุบัติเหตุในขณะที่ใช้ลู่วิ่งออกกำลังกาย จนทำให้ศีรษะแตกและเสียเลือดมากจนทำให้เสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล San Javier ใน Nuevo Vallarta จากนั้นมาแซนเบิร์กจึงกลายเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวผู้เข้มเข็งและยังคงดูแลครอบครัวของเธอต่อไป
ฉันหวังว่า ฉันจะสามารถเดินไปบอกสาวๆทุกคน ได้ว่า “จงเชื่อมั่นในตัวเองและต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และเป็นเจ้าของความสำเร็จของตัวเอง” – เชอริล แซนด์เบิร์ก จากงาน TED Talk ที่เธอเคยพูดไว้ในหัวข้อ “Why we have too few women leaders”
สำหรับวงการไอทีแล้ว แซนด์เบิร์กนั้นไม่เพียงแต่เป็นประธานฝ่ายปฎิบัติการของบริษัทชื่อดังอย่าง Facebook แต่เธอยังเป็นผู้ทรงอิทธิพลในแง่ของผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยกย่องอย่างสูงจากวงการไอทีทั่วโลก และเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้หญิงอีกหลายๆคนในด้านการทำงาน สิ่งที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการทำงานอย่างหนักแล้ว เธอยังคงเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่น่ารักของลูกๆอีกด้วยจึงไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า งานของเธอนั้นไม่ว่าจะเป็นการบริหารงานระดับสูง หรือการเป็นคุณแม่ที่เข้มแข็งของเด็กๆนั้นมีความยากและต้องใช้ความมานะอดทน และความกล้าหาญอย่างมากเพื่อที่จะพิสูจน์ตัวเอง เราจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมเธอถึงได้ติดอันดับของผู้หญิงที่ทรงพลังและมีอิทธิพลที่สุดของโลกคนหนึ่งจากสื่อหลายๆสำนักพิมพ์ ทั้ง The Wall Street, Fortune, Time, และ Forbes เรียกได้ว่ากวาดเรียบยกแผงเลยทีเดียว
แล้วคุณล่ะ? วางแผนเกี่ยวกับเส้นทางการทำงานของคุณไว้อย่างไรบ้าง เราเชื่อว่าเมื่อคุณอ่านบทความนี้จบแล้วต้องมีไฟซักดวงในใจของคุณลุกโชนขึ้นมาแน่ๆ เรื่องราวของแซนเบิร์กน่าจะเป็นตัวอย่างที่น่าประทับของใครหลายๆคน ตอนนี้เป็นของคุณอีกคนด้วยใช่ไหมล่ะ?
Digital Marketing Executive | Aware Group ตั้งใจที่จะส่งมอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถศึกษาร่วมกันได้ ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจด้านเทคโนโลยี มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันนะคะ