เชื่อว่าหลายคนสงสัยว่าระหว่าง Industry 4.0 VS Thailand 4.0 มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรเรามีคำตอบมาให้คุณแล้ว
จริงๆแล้วแม้ว่าสองเรื่องนี้ดูจะมีที่มาแตกต่างกัน แต่ความสอดคล้องนั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นจาก Industry 4.0 นั้นส่งผลกับ Thailand 4.0 ด้วยและเพื่อให้ประเทศของเราสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ในสภาวะการแข่งขันของโลกในปัจจุบัน ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องมีนโยบายที่สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ที่รัฐบาลชูนโยบายสำคัญอย่าง Thailand 4.0 โมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริการระดับสูง เพื่อผลักดันการเติบโตของรายได้ในประเทศให้สูงขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า Thailand 4.0 จึงเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐิจของประเทศเพื่อปรับให้ก้าวทันกับ Industry 4.0 นั่นเอง
ย้อนไปสักนิด Industry 4.0 คืออะไร?
ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงทั้งวิธีการผลิตและระบบการผลิต ซึ่งก่อนหน้านี้โลกของเราผ่านมาแล้วทั้ง 1.0 -3.0 ด้วยกัน ได้แก่
Industry 1.0 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เพราะมีการค้นพบเครื่องจักรไอน้ำเครื่องแรกของโลก ทดแทนการใช้แรงงานคน สัตว์ เกิดเครื่องจักรกลไอน้ำในระบบการผลิต เกิดการผลิตรถไฟ เรือกลไฟใช้ เกิดการเดินทางและการพัฒนาจากในเมืองไปสู่ชนบท
Industry 2.0 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 เพราะมีการค้นพบไฟฟ้าครั้งแรกของโลก ทดแทนการใช้เครื่องจักไอน้ำลดการใช้ถ่านหิน การผลิตทำได้เยอะขึ้นกว่าเดิมมากจนเปลี่ยนระบบการผลิตเป็นระบบโรงงาน เกิดการผลิตสินค้าคราวละมากๆ (Mass Production) สินค้าดี มีคุณภาพ ราคาไม่แพง เกิดกระแสบริโภคนิยมไปทั่วโลก
Industry 3.0 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 เพราะอินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ในโรงงานต่างๆ เกิดสายการผลิตแบบอัตโนมัติขึ้น เป็นการใช้เครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ในการผลิตแทนที่แรงงานมนุษย์มากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง โดยมีจุดประสงค์ก็เพื่อลดต้นทุนการผลิต
Industry 4.0 การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เป็นการบูรณาการโลกของการผลิตเข้ากับการเชื่อมต่อทางเครือข่ายในรูปแบบ Internet of Things (IoT) ทุกหน่วยของระบบการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบ เครื่องจักร เครื่องมืออุปกรณ์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จุดเด่น คือ สามารถเชื่อมความต้องการของผู้บริโภคแต่ละรายเข้ากับกระบวนการผลิตสินค้าได้โดยตรง กล่าวคือ โรงงาน 4.0 จะสามารถผลิตของหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันตามความต้องการเฉพาะของผู้บริโภคแต่ละราย (Mass Customization) เป็นจำนวนมากในเวลาพริบตาเดียว
สำหรับประเทศไทยนั้นต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมการผลิตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ภาครัฐจะต้องหันมาสนใจต่ออุตสาหกรรม 4.0 ฉะนั้น Industry 4.0 คือสิ่งที่โลกกำลังหมุนไป ทำอย่างไรเราจึงจะก้าวทันหากเราไม่ปรับแล้วเลือกที่จะเปลี่ยน ค้นหาและวางแนวทางที่จะทำให้เราอยู่ในจุดที่ได้เปรียบในการแข่งขันครั้งนี้?
Thailand 4.0 คือคำตอบของปัจจุบัน
Thailand 4.0 คืออะไร? คือเรื่องของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ หรือโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศโดยอาศัยโครงสร้างการผลิตและพื้นฐานในการประกอบอาชีพของคนในสังคมไทย
4.0 คืออะไร? บอกความพิเศษ? – ตัวเลขบ่งบอกถึงระดับการพัฒนาสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทย 4.0 บอกว่าเราผ่าน 0.1-0.3 มาแล้ว ระดับการพัฒนาสภาพเศรษฐกิจตั้งแต่ 1.0-3.0 ของประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของชาติทั้งภายใน-ภายนอก รวมถึงผู้นำในขณะนั้นว่ามีนโยบายนำพาประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไร ด้วยวิธีใด ประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมามีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเริ่มด้วย
Thailand 1.0 รัฐเน้นการลงทุนทางภาคเกษตรกรรมในสมัยนั้น เช่น ปศุสัตว์ พืชไร่ พืชสวน ส่วนการส่งออกในขณะนั้นยังเป็นแค่ข้าว ไม้สักและดีบุกเท่านั้นเอง
Thailand 2.0 รัฐเน้นลงทุนในอุตสาหกรรมเบาที่ต้องอาศัยแรงงานของคนจำนวนมาก เช่น ใช้แรงงานจำนวนมากแทน เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ
Thailand 3.0 รัฐเน้นลงทุนกับอุตสาหกรรมหนักรวมทั้งมีการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เน้นชิ้นส่วนยานยนต์ แผงวงจรไฟฟ้าที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น และขยับลงทุนในต่างประเทศอีกด้วย
กับดักรายได้ปานกลาง
ตั้งแต่ Thailand 3.0 เป็นต้นมา ส่งผลให้ประเทศเราติดแหง็กอยู่ในช่วงรายได้ปานกลางมาเป็นเวลากว่า 30 ปีจนถึงปัจจุบัน เมื่อเปียบเที่ยบกับช่วงพ.ศ.2500-2536 เศรษฐกิจของไทยเรามีการเติบโตอย่างมากถึงระดับ 7-8% ต่อปี แต่พอหลังจาก พ.ศ.2537 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นเพียง 3-4% ต่อปีเท่านั้นโดยไม่กระเตื้องขึ้นมาจนเกิดความไม่สมดุลในการพัฒนา ทำให้คนเหลื่อมล้ำกันมาก ในขณะที่ทั่วโลกมีการแข่งขันที่สูงขึ้นก้าวกระโดดห่างจากเราไปไกล ทำอย่างไรเราจึงจะสามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางไปได้และสามารถเข้าไปแข่งขันกับนานาประเทศได้? ก็ด้วยการเปลี่ยนโมเดลในการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวข้ามจาก Thailand 3.0 ไปสู่ Thailand 4.0 ให้ได้ภายใน 3-5 ปีนี้ เพื่อให้ตอบรับกับตัวเองและโลกนั่นเอง
แนวทางเพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ประเทศไทยจึงต้องเปลี่ยนเข้าสู่ Thailand 4.0 ( ประเทศไทย 4.0 ) ‘ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม’ ที่เราได้ยินกันมาตลอด นโยบายนี้มีเพื่อขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจชุดใหม่ให้ประเทศไทยมีโอกาสกลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูงด้วยการทำน้อยแต่ได้มาก ลดการพึ่งพาต่างชาติ ลดความเหลื่อมล้ำต่างๆ สร้างความสมดุลทางเศรษฐกิจและสังคม โดยอาศัยการเปลี่ยนสินค้าโภคภัณฑ์ไปสู่สินค้านวัตกรรมแทน ฉะนั้นทุกรูปแบบทักษะอาชีพที่เราถนัดรวมถึงความหลากหลายเชิงชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรม จะถูกเพิ่มคุณค่าและมูลค่าโดยการเติมเต็มด้วยวิทยาการ ความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา แล้วต่อยอดความได้เปรียบเพื่อให้กลายมาเป็น “ความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน” แบ่งเป็น “5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย” ประกอบด้วย
1.กลุ่มอาหาร เกษตร และเทคโนโลยีชีวภาพ (Food, Agriculture & Bio-Tech)
2.กลุ่มสาธารณสุข สุขภาพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Health, Wellness&Bio-Med)
3.กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์ และระบบเครื่องกลที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ควบคุม (Smart Devices, Robotics & Mechatronics)
4.กลุ่มดิจิทัล เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อและอุปกรณ์ต่างๆ ปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว (Digital, IoT, Artificial Intelligence & Embedded Technology)
5.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)
เป้าหมายของการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ “Thailand 4.0”
การพัฒนาประเทศ ภายใต้ “ประเทศไทย 4.0” มี 3 ประเด็นที่สำคัญ
1.เป็นจุดเริ่มต้นของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการขับเคลื่อนไปสู่การเป็นประเทศที่มั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน อย่างเป็นรูปธรรม
2.เป็น “Reform in Action” ที่มีการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปการวิจัยและการพัฒนา และการปฏิรูปการศึกษาไปพร้อมๆ กัน
3.เป็นการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนภายใต้แนวคิด “ประชารัฐ” โดยเป็นประชารัฐที่ผนึกกำลังกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจ การวิจัยพัฒนา และบุคลากรระดับโลก ภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของการ “รู้จักเติม รู้จักพอ และรู้จักปัน”
โมเดลนี้จะสำเร็จได้ต้องใช้แนวทางสานพลังประชารัฐที่เน้นการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ธนาคาร ประชาชน สถาบันศึกษาและสถาบันวิจัยต่างๆ ประกอบกับการส่งเสริม SME และ Startup ในประเทศเพื่อร่วมขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน รองรับด้วยโครงสร้างด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ มีอินเทอร์เน็ตที่คลอบคลุมประชากรมากที่สุด เพื่อทุกคนให้สามารถเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วนได้อย่างไม่สะดุด สุดท้ายภาพที่เราหวังไว้จะสำเร็จได้ก็ด้วยความร่วมมือร่วมใจกันทุกภาคส่วนให้เราก้าวข้ามกับดักนี้ไปได้ก้าวไปสู่สิ่งใหม่ดีกว่าและอนาคตที่สดใส
ควรเตรียมตัวรับมือกับ Thailand 4.0 อย่างไร?
นอกจากความพยายามของทางภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เป็นไปตามกลไกที่เหมาะสมเข้ากับยุคสมัย และในเมื่อทุกคนต้องมีส่วนร่วมไปด้วยกัน ช่วยกันผลักดันไปพร้อม ๆ กัน คุณควรเปิดใจในเรื่องของเทคโนโลยี เช่น ใช้ให้เป็น ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่ เลือกใช้เป็นว่าอะไรที่เหมาะกับเรา เพื่อที่จะได้ใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาให้คุณไปได้ไวขึ้นและไม่เสียโอกาสทางธุรกิจ นอกจากนั้นควรสนับสนุนบุคลากรในทุกๆด้าน ทั้งด้านการฝึกอบรม เงินทุนสนับสนุน ให้บุคลากรของเรามีทักษะการคิดวิเคราะห์แก้ไขปัญหา สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ มีใจรักบริการและความยืดหยุ่นทางความคิด พร้อมสร้างกำลังใจและความเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้ จากภาพเล็กนี้เองจึงจะกลายเป็นภาพใหญ่ที่สมบูรณ์ได้
มาถึงตรงนี้แล้วคุณพร้อมแค่ไหนในการรับมือกับ Thailand 4.0 หากคุณต้องการที่ปรึกษาเพื่อช่วยแนะนำการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานด้วยการเสริมเทคโนโลยีต่างๆเข้ามา หรือผลิตซอฟต์แวร์ใหม่เพื่อใช้งานในองค์กร โอนถ่ายข้อมูลขึ้นบนระบบคลาวด์ หรือเปลี่ยนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขององค์กรให้พร้อม ทำงานได้ประสิทธิภาพมากขึ้นและสอดรับกับนโยบาย ติดต่อ Aware ได้ทันที คลิกที่นี่เพื่อติดต่อเรา
Digital Marketing Executive | Aware Group ตั้งใจที่จะส่งมอบเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ เขียนให้อ่านง่ายและเข้าใจง่าย แม้ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีมาก่อนก็สามารถศึกษาร่วมกันได้ ยินดีที่จะนำเสนอเรื่องราวน่าสนใจด้านเทคโนโลยี มาร่วมเรียนรู้ด้วยกันนะคะ