March 11, 2019
เด็กจบใหม่เขียนเรซูเม่อย่างไรให้ได้งาน
เรซูเม่ที่ดีต้องเป็นอย่างไร? น้องๆเคยค้นหากันมาบ้างแล้วใช่ไหม เช่น ต้องเป็นแบบไหน มีไอเดียลูกเล่นอะไรใหม่ๆในการทำเรซูเม่บ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่ยังคงท้าทายน้องๆที่เพิ่งเรียนจบใหม่และกำลังหางานอยู่ นั่นคือการเขียนเรซูเม่อย่างไรให้เข้าตา HR น้องๆอาจเคยหา Format ที่ถูกใจมาลองปรับ คิดว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะดีและน่าจะได้งาน แต่จริงๆแล้วการใช้ Format ของคนอื่นมาเปลี่ยนเนื้อหาให้เป็นของตัวเอง อาจไม่ส่งผลดีต่อการถูกพิจารณาเรียกมาสัมภาษณ์เสมอไป เพราะหลายคนยังขาดความเข้าใจว่าจริงๆแล้วการเขียนเรซูเม่ต้องเริ่มจากตรงไหน? เป้าหมายของการเขียนเรซูเม่คืออะไร?
ก่อนอื่น น้องๆทราบหรือไม่ว่า เรซูเม่กว่า 80% ของเด็กจบใหม่ถูกคัดออก?
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเรซูเม่ที่ไม่น่าสนใจและไม่สามารถนำเสนอตัวเองได้ตรงกับความต้องการของบริษัทที่น้องๆสมัคร ฉะนั้นทำอย่างไรให้เรซูเม่ของเรากลายเป็นเรซูเม่เด็กจบใหม่เลอค่าที่ HR กำลังตามหา
เรซูเม่ (Resume) คือ ประวัติส่วนตัวโดยย่อที่สรุปเรื่องของคุณสมบัติและความสามารถของเรา เป็นเหมือนใบโฆษณาส่วนตัวว่า ฉันมีดีในเรื่องอะไรบ้าง ฉันมีทักษะในด้านต่างๆ และความพร้อมในการทำงานแบบผู้ใหญ่ ฉะนั้นเรซูเม่จึงถือเป็นปราการด่านแรกที่ต้องทำให้ดีให้ได้ในสายตา HR
หลักๆแล้ว HR จะดูอยู่ 3 อย่าง
- ประสบการณ์ ตำแหน่งที่เราต้องการสมัครงาน เรามีประสบการณ์ไหนบ้างที่จะสามารถยืนยันได้ว่า เราน่าจะทำงานในตำแหน่งนี้ได้
- ความสำเร็จที่ผ่านมา เราเคยสำเร็จในเรื่องอะไร มันบอกได้ถึงความตั้งใจ ความอดทน การร่วมงานกับผู้อื่น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงาน และความเป็นไปได้ที่จะสามารถร่วมงานกับบริษัทที่เราสมัครงานด้วย
- เรซูเม่ ตรงกับงานที่เขาเปิดรับสมัครหรือไม่
ในเรซูเม่ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง
1. Personal Data
ว่าด้วยเรื่องข้อมูลส่วนตัว ได้แก่ รูปโปรไฟล์ ชื่อ สกุล วันเดือนปีเกิด เบอร์ติดต่อ และอีเมล ระวังเรื่องการเขียนเบอร์โทรและอีเมลให้ถูกต้อง หาก HR สนใจแต่ติดต่อกลับไม่ได้เสียดายแย่
Do: น้องๆควรมีชื่ออีเมลที่เป็นแบบสุภาพ สร้างจากชื่อและนามสกุลจะดีที่สุด เช่น somchai.kondee@example.com และหลีกเลี่ยงการใช้อีเมลที่ตั้งชื่อจากความชื่นชอบส่วนตัว เช่น ทีมฟุตบอล ดารา การ์ตูน ถ้อยคำไม่เป็นทางการ เช่น Piggydance365daysyeah@example.com
Don’t: รูปโปรไฟล์ไม่แนะนำให้ส่งรูปที่เป็นแบบ Selfie หรือมีลักษณะไม่เป็นทางการจนเกินไป ในภาพควรใส่เสื้อผ้าเรียบร้อย ยิ้มแย้ม เห็นหน้าตาชัดเจน และระวังแบคกราวด์ด้านหลังที่ไม่เหมาะสม
2. Education
ประวัติการศึกษาที่ระบุอย่างละเอียด ได้แก่ ปีที่ศึกษา สถานศึกษา คณะ สาขา เกรดเฉลี่ย เราแนะนำว่าให้เรียงลำดับจากปัจจุบันลงไปหาอดีต
Do: ควรนำเสนอให้อ่านง่ายสบายตา
Don’t: ระวังเรื่องตัวเลขและการสะกดชื่อสถาบันให้ถูกต้อง
3. Experience
ประวัติการทำงาน ควรใส่ชื่อบริษัท ตำแหน่งงานที่เคยทำ ช่วงเวลาที่ทำงาน โดยเรียงลำดับจากปัจจุบันไปหาอดีต ในแต่ละตำแหน่งควรระบุ Key Responsibilities หรือหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก ว่าเราทำหน้าที่อะไรบ้าง เพราะตรงนี้หากใกล้เคียงกับงานที่น้องกำลังจะสมัครนี่จะเป็นส่วนเสริมมากๆ
**ส่วนน้องๆคนไหนที่ไม่ได้ฝึกงานสามารถปรับเป็น Additional Activity หรือกิจกรรมที่เคยทำซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปในข้อ 5
Do: หากมี Key Achievement หรือความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากหน้าที่นั้นๆ ควรใส่ลงไปด้วย เพิ่มความโดดเด่นของเรซูเม่ขึ้นมาทันที
Don’t: ไม่ควรเขียนอะไรที่เกินไปจากความจริงและไม่มีประสบการณ์ตรง
4. Key Skill
ใส่ทักษะความสามารถหลัก (Key skill) ที่เรามีจริงๆ ทั้งทางด้านภาษา ความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ความรู้ในเรื่องต่างๆ พยายามระบุทักษะที่มีผลเกี่ยวข้องกับตำแหน่งงานที่สมัคร และให้ระบุระดับความสามารถของตัวเองด้วย
Do: ควรระบุทักษะออกมาเป็นความสามารถที่อ่านค่าได้ เช่น ภาษาอังกฤษอยู่ในระดับควรปรับปรุง / พอใช้/ ยอดเยี่ยม และสามารถทำเป็นแบบ Infographic ให้ดูน่าสนใจได้นะ
Don’t: ระวังเรื่องการระบุระดับความสามารถแบบรูปภาพที่ไม่บอกระดับหรือประสิทธิภาพของทักษะนั้น
5. Additional Activity — กิจกรรมอื่น ๆ
ใส่กิจกรรมที่เคยทำทั้งทางวิชาการ กีฬา ความสนใจส่วนตัว งานมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เคยมีส่วนร่วมทำงาน เคยประกวด และหากได้รับรางวัลจากการทำงานให้ใส่ไปด้วย ถ้าตรงกับสายงานที่กำลังสมัครอยู่ HR จะรู้สึกสนใจเป็นพิเศษเพราะทำให้น้องๆดูมีประสบการณ์มากยิ่งขึ้น
6. Reference — บุคคลอ้างอิง
บุคคลอ้างอิง คือ ผู้ที่สามารถรับรองความสามารถที่แท้จริงของเราได้ รู้จักความประพฤติของเรา โดยบุคคลอ้างอิงอาจเป็นอาจารย์หรือเป็นหัวหน้างานที่เคยดูแลเรา ยิ่งตำแหน่งสูงยิ่งดี เพราะเป็นการรับรองจากความสามารถที่แท้จริง
Do: น้องๆควรแจ้งต่อบุคคลอ้างอิงนั้นเพื่อขอให้เขาเป็นบุคคลอ้างอิงให้เราก่อนส่งเรซูเม่
Don’t: ไม่ควรใส่ชื่อบุคคลที่คิดว่าไม่สามารถจะระบุข้อดี ลักษณะงาน และความรับผิดชอบของเราได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นเรซูเม่ที่ดีควรที่จะอ่านง่าย ใช้สีที่สุภาพ ไม่ควรใช้ Font แปลกๆ ที่ต้องอาศัยความพยายามในการอ่าน ควรใช้ Font ที่เหมาะสมและสามารถเปิดอ่านได้เป็นมาตรฐานอย่างเช่น Arial, Georgia หรือ Veranda และควรเซฟเป็น .pdf (ลองนึกดูว่าส่งเอกสารแนบมาแต่ HR เปิดอ่านไม่ได้ หรือไม่เหมือนกับ Format ที่น้องตั้งมา นอกจากจะไม่สวยงาม อ่านยาก แล้วยังอาจทำให้เรซูเม่ขาดความน่าสนใจอีกด้วย)
ถ้าเขียนเรซูเม่เป็นภาษาอังกฤษ ไม่ควรใช้ตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด และควรตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยก่อนส่งสมัครงานทุกครั้งว่ามีการพิมพ์ผิด/ ตกหล่นหรือไม่
แนะนำว่าควรเซฟชื่อไฟล์เรซูเม่ที่จะส่งให้เรียบร้อย เช่น Resume_Somchai_Kondee
หากน้องๆทำตามคำแนะนำเหล่านี้ บอกได้เลยว่าโอกาสในการถูกเรียกมาสัมภาษณ์งานมีสูงมาก เผลอๆอาจเรียกได้ว่ามีโอกาสเรียกมาสัมภาษณ์งานจากทุกที่ที่ส่งไป เชื่อว่าจากนี้เราจะได้เห็นเรซูเม่ที่น่าสนใจส่งเข้ามาสมัครงานกับ Aware กันเยอะๆนะคะ ดูงานที่เปิดรับสมัครทั้งหมดกว่า 500 ตำแหน่งของเราได้ที่ www.aware.co.th/it-jobs/
#ยินดีต้อนรับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงาน
#AwarePeople
- Aware สานฝันและเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการย้ายสายงานมาเป็น Developer (ตอนที่ 2) - January 17, 2023
- Aware สานฝันและเปิดโอกาสให้ผู้ที่ต้องการย้ายสายงานมาเป็น Developer (ตอนที่1) - January 17, 2023
- จบไม่ตรงสายจะเปลี่ยนสายงานมาเป็น Developer ได้อย่างไร - January 17, 2023
- เราจะสร้าง Digital Footprint ที่เป็นมิตรต่อการสมัครงานได้อย่างไร - March 29, 2022
- Digital Footprint ร่องรอยบนดิจิทัลที่เราทิ้งไว้สำคัญแค่ไหน - March 9, 2022
- Hybrid Working – รูปแบบใหม่ของการทำงาน | Aware Group - December 7, 2021
- บางนา มามะ จะพาไปดู - November 12, 2021
- Project Leader! ผู้นำคนสำคัญที่จะพาทีมไปสู่ความสำเร็จ - November 3, 2021
- Pride Month 2021 | Aware People - June 2, 2021
- 5 วิธีปลดล็อกความคิดสร้างสรรค์ในตัวคุณ - May 25, 2021