December 24, 2024
รู้จัก 7Q ความฉลาด 7 ด้านที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก
หากพูดถึง IQ (Intelligent Quotient) และ EQ (Emotional Quotient) หลายคนคงรู้จักกันดีในส่วนของความฉลาดทางปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ การมีทั้งสองอย่างอย่างสมดุลเปรียบเสมือนกุญแจสำคัญที่ไขไปสู่ความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นในชีวิตส่วนตัวหรือชีวิตการทำงาน ด้วยเหตุนี้ สถาบันต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่สถาบันครอบครัว สถานการศึกษา องค์กรอบรมพัฒนาศักยภาพต่าง ๆ ไปจนถึงบริษัทมากมาย จึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทั้ง IQ และ EQ ในบุคลากรของตน เพื่อสร้างคนที่มีคุณภาพและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ในอดีตมีโครงการมากมายที่อยากเพิ่ม IQ และ EQ ให้กับประชากร โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัว การเลี้ยงลูกน้อยให้มีทั้งความฉลาดหรือสติปัญญา และยังควบคุมอารมณ์ได้ดีด้วย ถือเป็นความท้าทายของพ่อแม่ในยุคปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามโรงพยาบาลและสถานศึกษาก็ช่วยอบรมให้คุณพ่อคุณแม่ได้อบรมลูก ๆ ของตนต่อด้วย
แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผลงานจิตวิทยาที่สนับสนุนให้จำแนก Quotient (Q) ออกเป็น 7 ประเภท ซึ่งแยกความฉลาดย่อยลงไปอีกว่า ในแต่ละคนนั้นมีอีกหลากหลายประการที่จะเป็นตัวแปรให้คนคนนั้นประสบความสำเร็จในชีวิต วันนี้เราจะมาดูกันว่า มีอะไรบ้าง และเราจะพัฒนาแต่ละส่วนได้อย่างไร
IQ: Intelligent Quotient
IQ หรือความฉลาดทางปัญญา หมายถึง ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ การคำนวณ ความจำ และการใช้เหตุผล
ในด้านนี้ การฝึกทำโจทย์คณิตศาสตร์ การแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เช่น ภาษาพูด ภาษาโปรแกรม สามารถช่วยกระตุ้นสมองและเสริมสร้างการเชื่อมโยงของเซลล์สมองได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การเล่นเกมที่ฝึกสมอง เช่น หมากรุก หมากล้อม ปริศนาอักษรไขว้ และซูโดกุ จะช่วยพัฒนาทักษะการคิดเชิงตรรกะและการแก้ปัญหา ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของ IQ
รวมทั้งหากได้ใช้เวลาอ่านหนังสือ ค้นคว้า ทางการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ไม่ว่าจะเป็นนิยาย สารคดี หรือแม้แต่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์ หรือศาสตร์อื่น ๆ ที่อาจยากและซับซ้อน ก็จะช่วยกระตุ้นให้สมองได้เรียนรู้วิธีการประมวลผลข้อมูลใหม่และพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ได้ด้วย
EQ: Emotional Quotient
EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ คือความสามารถในการรับรู้ เข้าใจ และการจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงจัดการกับอารมณ์ของผู้อื่นได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย คนที่มี EQ สูง มักจะสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเข้าใจในผู้อื่น สามารถแก้ไขความขัดแย้ง รู้จักการระงับความโกรธ และจัดการกับความเครียดความกังวลที่มีได้อย่างดี
วิธีเบื้องต้นที่ช่วยพัฒนา EQ ได้ดีก็คือ การฝึกสมาธิ และการฝึกฟัง ด้วยการสื่อสารกับผู้คนที่เริ่มจากการฟัง จะช่วยทำให้เราหัดที่จะไตร่ตรองกับตัวเองก่อนจะแสดงท่าทีใด ๆ ออกไป ฝึกรับฟังผู้อื่นในความเห็นที่แตกต่างจากตัวคุณเอง ช่วยสร้างความสามารถในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น รู้จักทำงานกับผู้อื่น และนำไปสู่ชีวิตที่ใช้การสื่อสารได้อย่างเหมาะสม และสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ฉะนั้นคนที่มี EQ สูง ก็เลยมักจะถูกเรียกว่าเป็นคนที่มีวุฒิภาวะสูงนั่นเอง
MQ: Moral Quotient
MQ หรือ ความฉลาดทางคุณธรรมจริยธรรม ระดับสติปัญญาทางด้านศีลธรรม การมีจริยธรรมอันดีที่เรามักจะเห็นในชีวิตประจำเช่น การมีความซื่อสัตย์ พูดความจริง ปฏิบัติตามสัญญา รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง รับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมาย เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น อดทนต่อความยากลำบากได้ รอคอยได้ การเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือการปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียม เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มี MQ ดีมักจะได้รับความไว้วางใจจากผู้อื่น ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี ช่วยให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น มีความสำเร็จร่วมกัน ถ้ามองในภาพใหญ่การมีประชาชนที่มี MQ สูง ก็จะอำนวยให้สังคมสงบสุขและน่าอยู่อย่างยั่งยืน เราสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งเหล่านี้จากผู้ที่มีแบบอย่างที่ดี สังเกตพฤติกรรมที่เราชื่นชมแล้วนำมาปรับใช้ การมี MQ ที่ดีจึงเป็นเหมือนเข็มทิศนำทางให้เราเลือกทำสิ่งที่ควรทำและเป็นประโยชน์
AQ: Adversity Quotient
AQ หรือ ความสามารถในการเผชิญอุปสรรค คือตัวชี้วัดว่าบุคคลสามารถตอบสนองต่ออุปสรรค และความท้าทายที่เผชิญได้อย่างไร โดยจะประเมินจากความคิด ท่าที และการรกระทำต่อปัญหาที่พบเจอนั้น ๆ ว่า ผู้ใดมีแนวโน้มที่จะยอมแพ้หรือยืนหยัดในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างปัจจุบันทันด่วน หรือการที่อยู่ ๆ ก็มีเรื่องยากลำบากให้ต้องฝ่าฟัน คนคนนั้นทำอย่างไรจึงทำให้ผ่านพ้นสถานการณ์นั้นไปได้นั่นเอง และเขาสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์เหล่านั้นได้อย่างไร
AQ หรือความสามารถในการเผชิญอุปสรรคนั้นเป็นทักษะที่พัฒนาได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร หรืออยู่ในสถานการณ์ใด การฝึกฝนจะช่วยให้คุณสามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้ดี ต้องฝึกอะไรบ้าง? เช่น ฝึกการเปลี่ยนมุมมองทั้งต่อการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ยอมรับความไม่แน่นอน มีมุมมองต่อปัญหาโดยมองเห็นเป็นโอกาสในการเรียนรู้และไม่ได้มองเป็นเรื่องน่ากลัว ฝึกคิดหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาและหาทางเลือกในการแก้ไขให้มากที่สุดเพื่อได้ลงมือทำอะไรใหม่ ๆ ฝึกเรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อนำมาปรับปรุง และสุดท้าย ฝึกตั้งเป้าหมาย วางแผน และตรวจสอบความคืบหน้าอย่างสม่ำเสมอ
ความฉลาดในการเผชิญอุปสรรค หากฝึกฝนได้เป็นอย่างดีจะช่วยให้เกิดความมั่นใจ มีความคิดเชิงบวก เพิ่มความแม่นยำในการตัดสินใจ ช่วยคุณปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ดี ทำงานกับทีมได้อย่างราบรื่น มีความอดทนต่อปัญหา รวมไปถึงมีความเด็ดขาดในการตัดสินใจเฉพาะหน้าด้วย
SQ: Social Quotient
SQ หรือ ความฉลาดทางสังคม เป็นความฉลาดในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมของแต่ละบุคคล หากใครที่มีมนุษยสัมพันธ์ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นดี จะส่งผลให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ซึ่งการเข้าสังคมก็มักช่วยให้คนคนนั้นมีการเรียน การทำงานที่ดีได้ด้วย เช่น การขอความช่วยเหลือเมื่อเจองานที่ทำคนเดียวไม่ไหว หรือต้องการคนสลับกันติวสอบวิชาที่ตนเองถนัด เป็นต้น
คนที่มี SQ ดี มักจะกล้าแสดงออกและพูดคุยได้อย่างมีประสิทธิภาพตามบริบทสังคมที่แตกต่างได้เป็นอย่างดี หรือนั่นก็คือ 1 ใน job description ของหลาย ๆ บริษัทมักระบุคุณสมบัติให้มี Team Work หรือแปลลึกไปว่า คนนี้สามารถ Work well with others to achieve a shared goal. นั่นเอง
CQ: Creativity Quotient
CQ หรือ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ ใช้ความคิด จินตนาการหรือแนวคิดใหม่ ๆ ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งในงานศิลปะ หรือการประดิษฐ์ CQ เคยถูกบรรจุในหลักสูตรการศึกษาของประเทศไทยช่วงสิบกว่าปีก่อน คือ Play & Learn (หรือที่เรียกว่า Plearn) หมายถึง การเล่นและทำกิจกรรมที่ส่งเสริมจินตนาการโดยให้มีช่วงเวลาในการเล่น ทำงานศิลปะ หัดเล่านิทาน ใช้จินตนาการ จะช่วยเสริมให้เด็ก ๆ มี CQ ดี
สำหรับวัยทำงาน เรายังสามารถกระตุ้น CQ ให้เกิดขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้สิ่งใหม่หรือทักษะใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน จากการฝึกฝนเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เช่น ฝึกคิดนอกกรอบด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่า “ทำไมต้องเป็นแบบนี้?” “มีวิธีอื่นที่ดีกว่าไหม?” รวมถึงการฝึกคิดแบบเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกันเพื่อสร้างไอเดียใหม่ ๆ หรือฝึกคิดถึงทางเลือกที่หลากหลายก่อนตัดสินใจเลือกทางที่ดีที่สุด และที่สำคัญที่สุดคือ การผึกเรียนรู้จากความผิดพลาดที่ผ่านมาเพื่อเป็นโอกาสไปสู่การพัฒนาสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย
PQ: Physical Quotient
PQ หรือความฉลาดทางด้านพลานามัย นั่นคือ การมีความมั่นใจในการเคลื่อนไหวของร่างกายของตัวเอง สามารถใช้ร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ เข้าใจความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของร่างกาย รวมถึงการดูแลสุขภาพของตนเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งการมี PQ ที่ดีก็ย่อมทำให้คนเรามีพลังงานในการใช้ชีวิต และสามารถทำงานหรือกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับคนทำงานอย่างเรา ๆ การมีสุขภาพแข็งแรงและทำงานได้อย่างคล่องแคล่วเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ หากเราดูแลร่างกายไม่ดีหรือไม่คำนึงสุขภาพของตนเอง เช่น เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายเกินกำลังจนบาดเจ็บ หรือทำงานหนักจนอดนอน เป็นโรคเครียด มีภาวะออฟฟิศซินโดรม อาการเจ็บป่วยหรือการมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อมในการทำงาน ก็อาจทำให้เสียโอกาสบางอย่างในวันที่เราเจ็บป่วยได้เช่นกัน
เราสามารถพัฒนา PQ ได้ด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหมั่นออกกำลังกายพื้นฐานในแต่ละวัน เพียงเซ็ตเวลาให้กับตัวเองวันละ 15-30 นาที ก็เพียงพอที่จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย ทั้งยังช่วยลดความเครียดและความเจ็บป่วยลงได้
พอได้รู้จักทั้ง 7Q แล้ว หากเราสามารถนำเอาแต่ละอย่างมาประยุกต์และฝึกฝนทั้ง 7Q ได้ดีก็จะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จในสิ่งต่าง ๆ ได้เร็วและดีขึ้นค่ะ
- รู้จัก 7Q ความฉลาด 7 ด้านที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก - December 24, 2024
- แนะนำหนังสือ Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น - December 13, 2024
- 7 ขั้นตอนรับมือกับความเครียดที่เกิดจากการทำงาน - December 13, 2024
- Reverse Mentoring เพราะเราทุกคนให้ความรู้และมุมมองที่แตกต่างกันได้ - June 20, 2024
- Certificate ที่น่าสอบเพื่อตอบโจทย์การทำงานสาย IT ในปี 2024 - June 14, 2024
- อยากเป็น Software Tester / QA Tester ต้องเริ่มอย่างไร - January 8, 2024
- สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน เราช่วยคุณเตรียมตัวได้นะ - December 7, 2023
- อยากเพิ่มทักษะให้ตัวเอง – ตัดสินใจอย่างไรระหว่างเลือกเรียนภาษาที่สามหรือภาษาคอมพิวเตอร์ ? - February 7, 2020
- วิธีเลือกกองทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยง - January 13, 2020
- บริษัทคัดเลือกผู้สมัครอย่างไร – ทำไมบริษัทไม่รับผมเข้าทำงาน? - September 23, 2019