January 6, 2025
7 ขั้นตอนรับมือกับความเครียดที่เกิดจากการทำงาน
เคยรู้สึกเครียดกับงานจนอยากจะหยุดทำงานหรือหายวับไปสักพักไหม? ความเครียดนิดหน่อยอาจช่วยกระตุ้นให้เราทำงานได้ดีขึ้น แต่การมีความเครียดหนักจนเกินไปก็อาจจะไม่ใช่สัญญาณที่ดี เพราะความเครียดเรื้อรังอาจทำให้เราเหนื่อยล้า หมดไฟ จนส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งกายและใจ รวมถึงความสามารถในการทำงานของเราได้ ในความเป็นจริงแล้วความเครียดจากการทำงานเป็นเรื่องปกติที่หลายคนต้องเผชิญ แต่ทราบหรือไม่ว่า การเผชิญความเครียดแม้แต่ในระยะสั้น ๆ เช่น กำหนดส่งงานชิ้นสำคัญที่กระชั้นชิด หรือความผิดพลาดในงานที่ต้องแก้ไข สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาตอบสนองทางร่างกายที่เรียกว่า “การตอบสนองโดยสู้หรือหนี” ซึ่งจะทำให้คุณมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ขึ้น และกล้ามเนื้อตึงเครียด
กลไกที่ว่านี้เป็นกลไกทางธรรมชาติที่มนุษย์ทุกคนมีไว้เพื่อปกป้องตนเองจากอันตรายต่าง ๆ ด้วยความกลัวว่าหากทำงานไม่เสร็จ ทำงานไม่ดี จะถูกตำหนิหรือถึงขั้นถูกไล่ออก ความกังวลนี้ทำให้เราตื่นตัวและต้องการทำงานนั้นให้สำเร็จแม้จะต้องทำงานล่วงเวลาจนดึกดื่นก็ตาม แต่เมื่อเราต้องเผชิญความเครียดติดต่อกันทุกวัน แทนที่จะส่งผลดี ความเครียดที่สะสมเพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ นี้ก็จะนำไปสู่ผลลัพธ์ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม
หากคุณรู้ตัวแล้วว่ากำลังเจอกับภาวะความเครียดคุณมีวิธีจัดการความเครียดนั้นอย่างไรกันบ้างคะ? หลายคนอาจปลีกวิเวกไปทำสิ่งที่ชอบแทน นัดเจอเพื่อน ช้อปปิ้ง ปิดโทรศัพท์ ออกเดินทางไปต่างจังหวัด อยู่กับตัวเอง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้อาจเป็นวิธีที่ช่วยคลายเครียดและช่วยให้เราหลบหลีกความเครียดได้สักพัก ทว่าหากเราลองใคร่ครวญดูดี ๆ การทำความเข้าใจและเผชิญหน้าเพื่อจัดการกับความเครียดน่าจะช่วยให้อะไรหลายอย่างดีขึ้นได้ในระยะยาว
วันนี้ เรามี 7 ขั้นตอนที่จะช่วยให้คุณเข้าใจสาเหตุและรับมือกับความเครียดได้ดีขึ้น
7 ขั้นตอนในการรับมือกับความเครียด
ขั้นที่ 1 สังเกตและรับรู้ถึงมันก่อน (Know it)
ถ้าคุณยังนิ่งเฉยคิดว่าตัวเองไม่เป็นไร นานเข้า ๆ วันหนึ่งสิ่งที่เราสะสมเอาไว้อาจจะระเบิดออกมาผ่านความหงุดหงิด อารมณ์ที่แปรปรวน หรือแม้แต่เกิดความรู้สึกหดหู่ วิตกกังวล ไม่มีสมาธิ หมดความกระตือรือร้นในการทำงาน และในบางคนอาจมีอาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง นอนไม่หลับ ฉะนั้น อยากให้คุณรับรู้ถึงมันก่อน เริ่มเครียดแล้วหรือยังนะ? มีอาการต่าง ๆ ข้างต้นที่กล่าวมานี้แล้วหรือไม่?
ขั้นที่ 2 จำแนกและวิเคราะห์ถึงปัญหาแต่ละประการ (Identify stress/problem you’ve got)
หากคุณกำลังประสบความเครียดจากการทำงานไม่ว่าจะเป็นปริมาณงานที่มากเกินไปจนล้นมือ ทำไม่ทัน กำหนดส่งงานกระชั้นชิด แถมเจอความคาดหวังมาก ๆ ทีมมีเป้าหมายที่สูง ต้องทำงานให้ได้มาตรฐานที่สูงมาก หรือเนื้องานไม่ชัดเจน ทำให้จับต้นชนปลายไม่ถูก ให้ลองแยกออกมาเป็นข้อ ๆ ว่า มีปัญหาอะไรบ้าง? มีอะไรที่ยากมาก ๆ บ้าง อะไรที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของคุณ ถ้ายังนึกภาพไม่ออกให้ลองแยกแค่ว่า สิ่งไหนที่คุณสามารถจัดการได้และสิ่งไหนที่ยังจัดการไม่ได้ แล้วไปต่อขั้นที่ 3 กัน
ขั้นที่ 3 วิเคราะห์ถึงความคิดแง่ลบที่มีอีกครั้ง (Re-evaluate negative thoughts)
การล้มเหลวในงานซ้ำ ๆ อาจทำให้เราเกิดความรู้สึกพ่ายแพ้นี้เป็นปัจจัยหลักอีกหนึ่งประการที่อาจทำให้คุณเริ่มมีแนวคิดเชิงลบ เช่น คุณอาจจะเริ่มคิดว่า “ฉันทำไม่ได้” หรือแม้แต่ “ยังไงก็ล้มเหลวอีกครั้งแน่ ๆ” และเมื่อเกิดความคิดแง่ลบ คุณก็สูญเสียความตั้งใจที่จะทำมัน เกิดความรู้สึกฝืน ไม่อยากทำ ไม่มีแรงบันดาลใจ ในแง่ของการรับมือกับเรื่องราวต่าง ๆ เราอาจจะต้องนำมาวิเคราะห์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อจัดการความคิดของเราใหม่ เช่น
- วิเคราะห์สาเหตุ: พยายามหาสาเหตุที่แท้จริงของความล้มเหลวหรือความผิดหวัง ยากตรงจุดไหน เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข พร้อมวางแผนในการจัดการสิ่งนั้น เช่น งานนั้นเราสามารถลดความผิดพลาดได้ในขั้นตอนไหน เรามีเครื่องมือหรือทรัพยากรที่เพียงพอต่อการทำงานชิ้นนี้หรือไม่ เรามีความรู้พอหรือไม่ งานที่ได้มาเยอะเกินไปกว่าที่จะทำให้เสร็จได้ในระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่ ต้องปฏิเสธหรือแบ่งงานออกไปให้ใครช่วยได้หรือไม่ งานที่ได้รับตรงกับความรับผิดชอบของเราหรือไม่
- มองหาโอกาส: มองความล้มเหลวนั้นเป็นโอกาสเพื่อการเรียนรู้เพิ่มประสบการณ์ในการพัฒนาตัวเอง
จากขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้คุณพิจารณาถึงสิ่งที่เกิดได้ดีขึ้น สามารถทำความเข้าใจต้นเหตุที่มาของความรู้สึกนั้น เพื่อช่วยสร้างความมั่นใจ เพิ่มความรู้สึกที่ดีขึ้น และมีความคาดหวังที่เป็นไปได้มากขึ้น
ขั้นที่ 4 จัดระเบียบตัวเองและงาน (Organize yourself & task)
ตัวเราเองก็เป็นคนคนหนึ่งที่ทำผิดพลาดได้ ตัดสินใจผิดได้ มีสิ่งที่ไม่รู้ได้ คุณไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่างหรือทำงานได้ผลลัพธ์สำเร็จ 100% หรือ 120% ตามที่ใคร ๆ คาดหวัง และเมื่อมีสิ่งที่ทำแล้วไม่สำเร็จ เราควรมีความกรุณาต่อตัวเอง (Have mercy on yourself) ให้โอกาสตัวเองในการยอมรับ หาทางแก้ไข ปรับปรุง ในขั้นตอนนี้นอกจากการทราบสาเหตุที่ทำให้เราไม่สบายใจเรามีอีกวิธี โดยใช้ Time Management Matrix จากหนังสือชื่อดังเรื่อง 7 Habits of Highly Effective People ที่เชื่อว่าการจัดการที่มีประสิทธิภาพนั้นคือ การให้ลำดับความสำคัญกับปัจจัยสำคัญ 2 อย่าง คือ ความสำคัญของงาน (Importance) คือ งานอะไรก็ตามที่มีความหมายและมีคุณค่าสูงสุด และความเร่งด่วนของงาน (Urgency) วิธีนี้จะช่วยให้คุณสามารถจัดลำดับการทำงานให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
- งานที่เร่งด่วนและสำคัญ : เป็นงานที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง มีเวลาทำงานในเวลาจำกัด ต้องลงมือทำทันทีด้วยตัวเอง และเป็นงานที่ทำให้เราสูญเสียพลังงานมากที่สุด สร้างความเครียดได้ง่าย เพราะส่งผลต่อหน้าที่ของเราและต้องการอย่างเร่งด่วน ควรทำงานเหล่านี้ก่อน
- งานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน : เป็นงานที่สำคัญ แต่ยังมีเวลาเพื่อการวางแผนล่วงหน้า ทำให้เราใช้เวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เกิดผลลัพธ์ที่ดีเพราะไม่เร่งรีบ ควรเผื่อหรือกันเวลาในปฏิทินไว้เพื่อทำงานแบบนี้ให้เสร็จโดยไม่โดนขัดจังหวะ
- งานเร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ : เป็นอีกลักษณะงานที่ต้องรีบจัดการ แต่คุณอาจจะไม่ต้องมีส่วนร่วมโดยตรง สามารถมอบหมายให้คนอื่นดูแลแทนได้
- งานที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ : เป็นงานที่ไม่สำคัญและไม่ควรอยู่ในตารางของเรา หรืองานที่ทดแทนได้ด้วยวิธีอื่น ทำให้เราสามารถปล่อยออกไปจากตารางได้ เช่น แทนที่จะนัดประชุมแต่เราสามารถแจกแจงรายละเอียดแจ้งผู้เกี่ยวข้องผ่านทางอีเมลได้
เมื่อลองพิจารณาแล้วงานแต่ละประเภทที่กล่าวมาข้างต้น งานของคุณอยู่ในประเภทไหนกันบ้างคะ?
- หาเวลาเพื่อหยุดพักอย่างมีคุณภาพ (Take a quality time for break)
ร่างกายคนเรามีเวลาของมันอย่างพอเหมาะพอเจาะ กลางคืนก็นอน กลางวันก็ทำงาน นั่นคือธรรมชาติของร่างกายเรา ฉะนั้นลองพักตามตารางธรรมชาติ และหาเวลาพักเบรก ออกไปเดินเล่นระหว่างพัก หลับตาสักหน่อย ลองนั่งสมาธิเพื่อรีเซ็ตความคิด หรือคุณอาจจะใช้วันลาพักร้อนหยุดพักชาร์จพลังเพื่อเป็นรางวัลให้กับตัวเองด้วย
หากไม่รู้จะทำอะไร การทำเรื่องเล็กน้อยแต่เป็นประโยชน์ก็น่าสนใจไม่น้อย เช่น เก็บรวบรวมของในบ้านที่ไม่ได้ใช้ไปบริจาค ออกไปเป็นครูอาสาโรงเรียนใกล้บ้านหรือไกลบ้านก็ได้ หรือเข้าคลาสวาดรูปบำบัดก็ได้ แต่หากคุณเป็นคนเก็บตัว การหาเวลาทำกิจกรรมโปรดในที่ Comfort Zone ของคุณก็ดีเช่นกัน
- พูดคุยกับใครสักคน (Talk to someone)
เพื่อต่อสู้กับความเครียดที่กำลังเผชิญอยู่ ให้เราลองมองหาใครสักคน อาจเป็นครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่จิตแพทย์ออนไลน์ (หรือจะเล่นกับ AI Chatbot ก็ยังได้) เพื่อบอกปัญหา ความรู้สึก ความเครียด ความกดดัน ฯลฯ ไม่จำเป็นต้องหาคนที่แนะนำเก่ง แค่เป็นคนที่รับฟัง เพราะบ่อยครั้งคุณไม่ได้ต้องการคำชี้แนะว่าจะคลายปัญหาได้อย่างไร แต่ต้องการใครสักคนข้าง ๆ ที่สามารถฟังเรื่องราวของเราได้ คนหรือกลุ่มคนเหล่านี้ จะคอยเสริมสร้างความคิดบวกให้กับคุณด้วย และเมื่ออยู่ท่ามกลางกลุ่มคนที่รักคุณ ความกังวลของคุณก็เหมือนได้รับการปลดปล่อยไปนั่นเอง
- อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ (Don’t be afraid to ask for help)
งานที่มีความสำคัญและยังไม่สามารถที่จะจัดการได้ อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากใครสักคน การขอความช่วยเหลือไม่ใช่สัญญาณของความอ่อนแอ แต่เป็นการแสดงให้เห็นความเข้าใจต่อตัวเอง การรับรู้ข้อจำกัดของทรัพยากรที่มีอยู่ รวมถึงแสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะทำให้งานนั้นเดินหน้าต่อไปได้ กระนั้นก็ตามอย่าลืมพูดถึงความชัดเจนในสิ่งที่เราต้องการ และอธิบายถึงปัญหาที่เราเจออย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ที่เราขอความช่วยเหลือเข้าใจและสามารถให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ได้ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าของคุณ รุ่นพี่ รุ่นน้องในทีม หรือเพื่อนร่วมงานในทีมอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่แน่นะ คุณอาจได้ไอเดียและทางออกใหม่ ๆ สำหรับการทำงานก็ได้
สุดท้ายแล้ว อย่าลืมว่าสุขภาพทั้งกายและใจนั้นสำคัญมาก ๆ มีสุทรพจน์หนึ่งที่น่าสนใจของ Brian Dyson (อดีตประธาน Coca-Cola ทั่วโลก) ได้กล่าวไว้ในงาน Georgia Institute of Technology ในปี 1991 โดยพูดถึง “5 Balls of Life” ที่หมายความถึง ความสมดุลของชีวิตทั้ง 5 ลูก เขาใช้คำว่า “ลูก (ฺBall)” เพราะเปรียบการรักษาสมดุลเหมือนการโยนลูกบอล (Juggling) ทั้ง 5 ลูกแบบที่เราเคยเห็นในสวนสนุก โดยห้ามมีลูกใดลูกหนึ่งตกพื้น Brian Dyson แทนลูกบอลทั้ง 5 ออกเป็น งาน ครอบครัว เพื่อนฝูงมิตรภาพ สุขภาพ และจิตใจ บอลทั้ง 5 ลูกนี้ไม่ได้เรียงลำดับความสำคัญและไม่มีอะไรสำคัญมากน้อยไปกว่ากัน แต่ทว่าความแตกต่างที่ชัดเจนคือ “วัสดุ” ของลูกบอลทุกประเภทจะทำด้วย “แก้ว” ยกเว้นเพียงลูกเดียวที่ทำจาก “ยาง” นั่นคือลูกที่เป็น “งาน”
จากตรงนี้คุณเริ่มเห็นอะไรรึยังคะ? ใช่เลยค่ะ สิ่งที่ Brian Dyson ต้องการจะสื่อคือ “งาน” เป็นสิ่งที่หาใหม่ได้เสมอ แต่เรื่องอื่น ๆ ถ้าคุณเผลอทำผิดพลาดหรือไม่ให้ความสำคัญมากพอ ถึงวันหนึ่งมันอาจไม่มีวันหวนกลับมา และสองสิ่งในนั้นที่เราพูดถึงก็คือ ร่างกายและจิตใจของเรานั่นเอง คุณจึงควรดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของคุณให้ดี และรู้ว่าตัวเองต้องทำอะไร เพื่อที่จะผ่านพ้นในแต่ละวันได้อย่างราบรื่นและมีความสุข
ปัจจุบันนี้จึงมีหลายบริษัทที่เพิ่มสวัสดิการที่จะช่วยในด้านสุขภาพจิตเข้าไปด้วย ไม่ว่าจะสนับสนุนค่าปรึกษากับแพทย์เฉพาะทาง ทั้ง Onsite และ Online หรือให้มีชั่วโมงส่วนตัวกับจิตแพทย์ที่เชิญมาในบริษัท ซึ่งรวมไปถึงเพิ่มกิจกรรมคลายเครียดตามเทศกาลต่าง ๆ การจัดกิจกรรม Team Building หรือแม้กระทั่งจัดออฟฟิศแบบ Friday Vibe เช่น มีปาร์ตี้เครื่องดื่มพร้อมของทานเล่นหลังเลิกงานเพื่อให้พนักงานได้มีเวลาพูดคุยและทำความรู้จักเพื่อนร่วมงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อย่าลืมดูแลสุขภาพกายของตัวเอง หาสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวด้วยนะคะ
- 7 ขั้นตอนรับมือกับความเครียดที่เกิดจากการทำงาน - January 6, 2025
- รู้จัก 7Q ความฉลาด 7 ด้านที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก - December 24, 2024
- แนะนำหนังสือ Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น - December 13, 2024
- Reverse Mentoring เพราะเราทุกคนให้ความรู้และมุมมองที่แตกต่างกันได้ - June 20, 2024
- Certificate ที่น่าสอบเพื่อตอบโจทย์การทำงานสาย IT ในปี 2024 - June 14, 2024
- อยากเป็น Software Tester / QA Tester ต้องเริ่มอย่างไร - January 8, 2024
- สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน เราช่วยคุณเตรียมตัวได้นะ - December 7, 2023
- อยากเพิ่มทักษะให้ตัวเอง – ตัดสินใจอย่างไรระหว่างเลือกเรียนภาษาที่สามหรือภาษาคอมพิวเตอร์ ? - February 7, 2020
- วิธีเลือกกองทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยง - January 13, 2020
- บริษัทคัดเลือกผู้สมัครอย่างไร – ทำไมบริษัทไม่รับผมเข้าทำงาน? - September 23, 2019