June 20, 2024
Reverse Mentoring เพราะเราทุกคนให้ความรู้และมุมมองที่แตกต่างกันได้
ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่เทคโนโลยี สิ่งเก่าล่วงไป สิ่งใหม่ก็เข้ามา แนวคิดเก่าที่รู้กันมาเสมอว่า การสอนงานต้องทำโดยรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์มาก่อน ก็กำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ณ ปัจจุบันนี้ ได้เกิดแนวทางการเรียนรู้แบบ Reverse Mentoring หรือ “การสอนงานจากคนรุ่นเล็กถึงคนรุ่นใหญ่” ซึ่งท้าทายหลักการความอาวุโสของที่ทำงานและนำมาสู่มุมมองที่แตกต่างออกไป ในบทความนี้เราจะได้ศึกษาแนวคิดของการสอนงานจากคนรุ่นเล็กถึงคนรุ่นใหญ่ ประโยชน์ที่ได้รับ กลยุทธ์ในการนำไปปฏิบัติ และตัวอย่างของความสำเร็จจริงที่เกิดขึ้น
เข้าใจเรื่อง Reverse Mentoring หรือการสอนงานจากคนรุ่นเล็กให้แก่คนรุ่นใหญ่
การสอนงานจากรุ่นน้องแก่รุ่นพี่เป็นแนวการสอนที่เปิดโอกาสให้คนที่มีอายุน้อยกว่าหรือมีประสบการณ์น้อยกว่าให้เป็นผู้สอน ผู้ให้คำแนะนำ และที่ปรึกษาแก่คนที่อายุมากกว่า ซึ่งต่างจากแนวคิดการสอนงานเดิมว่าความรู้ต้องออกจากผู้ที่มีประสบการณ์มากไปสู่ผู้น้อย Reverse Mentoring นี้ จึงปฏิวัติวงการการเรียนการสอน โดยเฉพาะวิธีการทำงานเพื่อจะให้เห็นว่าการแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ และมุมมอง ในทางกลับกันนี้ จะส่งผลเช่นไร
ประโยชน์ที่เล็งเห็นได้จาก Reverse Mentoring
การแลกเปลี่ยนความรู้แบบ Reverse Mentoring ช่วยให้การแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยีสมัยใหม่ แนวโน้มปัจจุบัน และแนวคิดนวัตกรรม จากรุ่นเล็กถึงคนรุ่นใหญ่ ในขณะที่คนรุ่นใหญ่ก็สามารถแบ่งปันประสบการณ์ชีวิตและประสบการณ์ที่สั่งสมมาขัดเกลาให้ความ “ใหม่” นั้น ไปในทางที่ถูกที่ควรได้มากขึ้น รวมทั้งจัดการกับ Change Management ได้ดีขึ้น ไม่ใช่ว่า คิดอะไรขึ้นใหม่ ก็เอามาปรับใช้เลย จนคนใน generation ที่ต่างกันอาจไม่สามารถทำความเข้าใจและปรับตัวได้ทัน
Reverse Mentoring บ่งชี้ให้เห็นว่าในความหลากหลายทั้งวัยทั้งวัยวุฒิ ทั้งประสบการณ์ ทุกคนสามารถมีส่วน มีบทบาท สลับบทบาทกันได้เสมอ รวมทั้งยังช่วยสร้างบรรยากาศที่สมดุล เป็นกันเองและเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
ผู้เรียนหรือผู้เข้ารับการอบรมที่มีอายุมากกว่าจะสามารถเรียนรู้ทักษะดิจิทัล เทคโนโลยี และทักษะสมัย/รุ่นใหม่ ในขณะที่ผู้สอนจะสามารถเรียนรู้การนำภาวะผู้นำ การสื่อสาร และแน่นอนว่าในระหว่างแบ่งปันความรู้พวกเขาก็ได้เรียนรู้วิธีที่อยู่ร่วมกับคนที่มีแนวคิดต่างกับเขาอย่างไรด้วย
ประโยชน์ที่เป็นหัวใจสำคัญอีกประเด็นคือ เพิ่มความสนใจในการทำงาน ให้คนแต่ละรุ่น ได้รับการพัฒนาปรับปรุงทักษะที่ตนเองไม่ถนัด ให้อยู่ในระดับที่พึงพอใจมากขึ้น ผลงานดีขึ้น และทำงานอย่างกระตือรือร้นขึ้น
หากผู้อ่านเป็นคน Gen Y หรือ Gen Z ที่เคยสอนหรือถูกวานให้สอนวิธีใช้ Line ใช้ Facebook กับคนยุคก่อนฉันใด การสอนงานจากคนรุ่นเล็กถึงคนรุ่นใหญ่ก็หมายความฉันนั้น คนยุคก่อนมักต้องการให้เราสอนการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ gadget ใหม่ ๆ และอดทนในการสอนช้า ๆ พูดซ้ำ ๆ ในที่ทำงานอาจจะมีผู้จัดการแผนก ที่เก่งในการจัดการบุคลากร แต่อาจใช้ระบบฐานข้อมูลไม่เป็น หรือผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน ที่ไม่รู้ว่าจะสร้างสมการถดถอยเพื่อดูแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้วยภาษา Python ได้อย่างไร ดังที่ Jordan Fabel ผู้ก่อตั้ง ApprovedCourse (เพิ่มเติม https://www.approvedcourse.com/ ) ที่ช่วยให้คนรู้ถึงเส้นทางในอาชีพของตน รวมถึงคอร์สต่าง ๆ ที่ควรเรียนรู้ เขาได้กล่าวว่า “ผมเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่จากคนที่เด็กกว่าเสมอ เพราะคน Gen Z นั้นเก่งในด้านนี้ … ในขณะที่มีการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี คนรุ่นเก่าก็ปรับตัวได้ลำบาก นั่นคือสาเหตุที่ผมมักขอให้คนอายุน้อยกว่าสัก 15 ปีมาสอน ไม่ใช่แค่บอกว่าพวกเขาหางานยากแค่ไหนในยุคนี้ แต่เป็นกลยุทธ์ การเป็นกระบอกเสียง และเป็นสื่อกลางให้ผมเข้าถึงพวกเขาได้ Reverse mentoring เป็นวิธีการที่เหมาะสมที่ช่วยให้ผมได้ข้อมูลเชิงลึกในความคิดของคนรุ่นที่ผมเข้าไม่ถึง”
บางคนอาจมองว่าวิธีการนี้คล้ายคลึงกับทักษะการนำแบบ Bottom-Up คือ การฟังความจากคนระดับล่างสู่ระดับบน กล่าวคือ ผู้นำให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของลูกน้อง คอยกระตุ้นให้ลูกน้องออกความคิดเห็นและมีส่วนร่วมในขั้นตอนหรือกระบวนการทำงาน แต่แนวคิดนี้ยังคงให้อำนาจผู้นำเป็นคนตัดสินใจด้วยตัวเองในท้ายที่สุด แต่ก็มักเกิดเหตุการณ์ว่า “ได้ยินแต่ไม่ได้ฟัง” หรือ “ฟังนะ แต่ไม่ได้นำมาสู่หลักปฏิบัติจริง” ในขณะที่ Reverse mentoring เป็นหนทางที่จะเสริมความรู้ระหว่างรุ่น และนำความปรองดองมาสู่คนทุกระดับชั้นอย่างแท้จริง ด้วยหัวใจสำคัญที่ว่า ไม่มีใครเก่งไปทุกด้านและเปิดใจยอมรับฟังซึ่งกันและกัน
กลยุทธ์ในการปฏิบัติ ก่อนเข้าสู่การทำ Reverse Mentoring
- กำหนดวัตถุประสงค์: กำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการสอนงานจากคนรุ่นเล็กถึงคนรุ่นใหญ่ของคุณ ไม่ว่าจะเป็นการโอนความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม หรือเพื่อการปรองดองระหว่างรุ่นสู่รุ่น การมีวัตถุประสงค์ชัดเจนจะช่วยให้คุณร่างโปรแกรมได้ดีและละเอียดขึ้น
- เลือกผู้ร่วมโครงการ: ระบุบุคคลที่สมควรได้รับการอบรม หรือจำเป็นที่จะต้องเข้าอบรม หรือผู้สมัครใจเข้าร่วมโครงการอาจจะเป็นคนที่กระตือรือร้นและใจเย็น อาจจะเป็นคนที่ยอมรับความแตกต่างและอ่อนโยนสุภาพ รวมทั้งเลือกผู้สอน (Mentor) ที่สื่อสารได้ดีเข้าใจได้ง่าย มีความอดทน และเป็นคนที่องค์กรของคุณต้องการสร้างเขาหรือเธอให้เป็นผู้นำถัดไป การสอนอาจจะเป็น 1 ต่อหลายคน หรือ 1:1 ก็ลองพิจารณาเลือกจับคู่บุคคลจากแผนกที่ต่างกัน เพื่อเพิ่มมุมมอง และวิสัยทัศน์ในสิ่งที่ไม่ใช่ความถนัดของตน
- กำหนดการ: สร้างกำหนดการทั้งหัวข้อการสอน ความถี่ในการอบรม และรูปแบบของการสอนงาน สร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ ห้องเรียนไม่ว่าจะ offline หรือ online ผู้เป็น Mentor (ผู้สอน) และ Mentee (ผู้เรียน) ก็ควรเปิดใจ จริงใจและเคารพซึ่งกันและกัน
- ให้การฝึกอบรม: ให้การฝึกอบรมแก่ทั้งผู้สอนและผู้เรียน โดยมีผู้นำโปรเจกต์หรือแคมเปญการเรียนรู้นี้ โดยที่ให้ผู้สอนได้เข้ามาเรียนรู้ก่อนว่าจะสื่อสารอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เทคนิคการสอน การใช้ศัพท์ต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละวัย ฯลฯ ในขณะเดียวกันผู้เรียนสามารถรับคำแนะนำเกี่ยวประโยชน์ของโครงการนี้ รวมทั้งถ่อมใจเข้ารับการสอนจากคนที่มีอายุอ่อนกว่าด้วย
- วัดความสำเร็จ: กำหนดตัวชี้วัดสำคัญ (Key Performance Index: KPIs) เพื่อวัดความสำเร็จ ประสิทธิผล และผลกระทบของโครงการนี้ รวมถึงการพิจารณาถึงพัฒนาการในทักษะต่าง ๆ ที่อยู่ในการเรียนการสอน และความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมเพื่อนำมาปรับปรุงหากมีครั้งถัดไป
ใครที่ควรเข้ามาเป็นผู้รับการอบรม (Mentees)?
- CEO / MD / GM
- Senior Executive
- VP
- Senior Manager
โปรดจำไว้ว่า เป้าหมายของโครงการนี้ คือ ต้องการให้ผู้รับการอบรมหรือผู้เรียน ได้รับมุมมองในแง่ที่ต่างกันจากคนต่างวัย ต่างยุค ต่างสมัย และนำไปสู่การอัปเกรดการตัดสินของเหล่าผู้นำของบริษัท / องค์กร ให้ทันสมัยและเข้ากับสถานการณ์ได้ดีขึ้น ภายใต้การมีประสบการณ์มาอย่างโชกโชนในสายงานนั้น ๆ ของผู้บริหาร
ตัวอย่างความสำเร็จในการใช้ Reverse Mentoring
บริษัทเบียร์ชั้นนำอย่าง Heineken ได้นำ Reverse Mentoring มาใช้และประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง โดยที่ 86% พบว่าพวกเขาได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากจากการรับการสอนจากคนรุ่นใหม่ และถัดมาผู้นำระดับสูงก็ได้เข้าร่วมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า พวกเขาเปิดเผยว่า พวกเขาต้องการใกล้ชิดกับพนักงานรุ่นใหม่หรือพนักงานที่เด็กกว่าเพื่อรับทักษะใหม่ ๆ
บริษัท Consulting Firm ยักษ์ใหญ่ของโลก อย่าง PwC หรือ PricewaterhouseCoopers International Limited เริ่มโปรแกรมการฝึกอบรมแบบ Reverse Mentoring ในปี 2014 เพื่อขับเคลื่อนความหลากหลายและการไม่แบ่งแยกภายในองค์กร ปัจจุบัน โครงการนี้มีผู้เข้าร่วมเป็นพนักงานรุ่นใหม่ (Millennial) จำนวน 122 คน และผู้บริหารและหุ้นส่วนอาวุโส จำนวน 200 คน ด้วยความเชื่อว่า การนำไม่ขึ้นกับอายุ ความอาวุโส หรือตำแหน่ง และคนทุกยุคลสมัยสามารถเข้าใจซึ่งกันและกันได้
สรุป:
การสอนงานจากคนรุ่นเล็กถึงคนรุ่นใหญ่ได้กลายเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคสมัยแห่งเทคโนโลยี เป็นแนวทางปฏิบัติที่สามารถเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร นวัตกรรม และสร้างสรรค์การเติมเต็มในช่องว่างระหว่างรุ่น โดยบริษัทนำ Reverse mentoring นี้มาใช้เพื่อส่งผ่านความรู้และแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างรุ่นได้อย่างราบรื่น ผ่านสภาพแวดล้อมที่เอื้อในการพัฒนา ท้ายที่สุดแล้วก็จะเห็นว่าองค์กรหรือบริษัทจะมีการพัฒนาได้อย่างสมดุล สนับสนุนความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก และจะช่วยให้ผลลัพธ์การทำงานร่วมกันดีขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- Reverse Mentoring เพราะเราทุกคนให้ความรู้และมุมมองที่แตกต่างกันได้ - June 20, 2024
- Certificate ที่น่าสอบเพื่อตอบโจทย์การทำงานสาย IT ในปี 2024 - June 14, 2024
- อยากเป็น Software Tester / QA Tester ต้องเริ่มอย่างไร - January 8, 2024
- สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน เราช่วยคุณเตรียมตัวได้นะ - December 7, 2023
- อยากเพิ่มทักษะให้ตัวเอง – ตัดสินใจอย่างไรระหว่างเลือกเรียนภาษาที่สามหรือภาษาคอมพิวเตอร์ ? - February 7, 2020
- วิธีเลือกกองทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยง - January 13, 2020
- บริษัทคัดเลือกผู้สมัครอย่างไร – ทำไมบริษัทไม่รับผมเข้าทำงาน? - September 23, 2019
- ไม่ใช่แค่คุณลุงคุณป้า แต่คนทำงานอย่างเราเองก็ต้องเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุด้วยเช่นกัน - August 14, 2019
- แนะนำวิธีการเก็บเงินสไตล์นักเศรษฐศาสตร์ที่คุณเองก็ทำได้ - July 20, 2019
- ประโยชน์ในการเป็นพนักงาน IT Outsource แบบสัญญาจ้าง (ตอนที่ 3) - May 10, 2019