April 24, 2025
Advanced Interview Technique – รู้ทันเกมสัมภาษณ์ ตอบทุกคำถามให้ปัง
วันนี้เราจะมาแชร์เทคนิคในการตอบคำถามสัมภาษณ์งานที่เจาะลึกมากขึ้น บอกเรื่องราวของคุณให้น่าสนใจมากขึ้น มาเตรียมตัวให้พร้อม ฝึกซ้อมให้ดี สำหรับการสัมภาษณ์ที่กำลังจะมีขึ้นในอนาคตข้างหน้ากันค่ะ
ปัจจุบัน มีการสัมภาษณ์งานในหลายรูปแบบและหลายสถานที่ การสัมภาษณ์ไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเข้าไปที่ออฟฟิศอย่างเดียวอีกต่อไป มีการอำนวยความสะดวกนอกสถานที่ ผ่าน VDO conference หรือลักษณะการสัมภาษณ์ที่คุณจะได้เจอผู้สัมภาษณ์มากกว่า 1 คน ทั้งกลุ่ม หรือทั้งทีม และมีการประยุกต์ใช้วิธีการสัมภาษณ์ที่หลากหลายมากขึ้น การสัมภาษณ์โดยทั่วไปมักจะเป็นไปตามแบบแผน หรือการสัมภาษณ์แบบเป็นรูปแบบ ซึ่งมักจะมีขั้นตอน มีเวลากำหนด มีคำถามทั่วไป ตั้งแต่แนะนำตัว (ไทย–อังกฤษ หรือภาษาอื่น ๆ ตามลักษณะงานนั้น ๆ ) เล่าประสบการณ์ทำงานแบบย่อ เล่าโปรเจกต์ที่ทำสำเร็จ แผนการทำงาน อนาคตที่ตั้งเป้าหมายไว้ รวมไปถึงจงบอกข้อดีข้อเสียของตัวคุณเอง หลังจากจบทุกอย่างแล้ว HR หรือผู้สัมภาษณ์ ก็อาจจะถามว่าคุณมีคำถามอะไรกับบริษัทหรือไม่ แล้วก็จบการสัมภาษณ์
กรณีนี้ผู้สัมภาษณ์อาจจะมีสคริปต์ แล้วเรียงคำถามตามแบบแผน ตามความเคยชิน หรือจากการอบรมวิธีการสัมภาษณ์พนักงานใหม่ แล้วให้คะแนน ให้ความเห็น ตามคำตอบที่ได้รับ เช่น จบการศึกษาจากที่ไหน? ทำงานที่แรกเป็นอย่างไร? ตอนนี้ทำงานที่ไหน หน้าที่อะไร? ต้องการหางานใหม่เพราะอะไร? เงินเดือนที่ต้องการ? เป็นต้น
แต่…ยังมีวิธีการสัมภาษณ์อีกรูปแบบหนึ่ง คือ “การสัมภาษณ์แบบไม่มีรูปแบบ” หรือ การสัมภาษณ์แบบแรนด้อมคำถาม เป็นการสัมภาษณ์ที่ไม่มีคำถามตายตัว และเป็น open-ended conversation คุณจะไม่มีทางคาดเดาได้เลยว่า ผู้สัมภาษณ์จะถามอะไรคุณ หรือจะเรียงลำดับคำถามอย่างไร แต่ผู้สัมภาษณ์อาจจะชี้แนะทางให้คุณตอบภายในขอบเขตได้ เช่น กรุณาเล่าโปรเจกต์ที่คุณทำสำเร็จให้พี่ฟังหน่อยค่ะ? หากผู้สมัครเริ่มตอบว่า มีโปรเจกต์มากมายที่ทำเสร็จ แต่ไม่รู้จะเริ่มจากที่ไหนดี ผู้สัมภาษณ์ก็อาจจะนำไปต่อว่า โปรเจกต์ที่คุณภาคภูมิใจกับมันที่สุดค่ะ ตอนนั้นเป็นช่วงปีอะไร? ทำงานให้กับอุตสาหกรรมอะไร? มูลค่าโปรเจกต์เท่าไร? คุณได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างไร? ภูมิใจเพราะอะไร? ในฐานะผู้สมัครงานที่เข้ารับการสัมภาษณ์ คุณก็ต้องคิดและเลือกให้ได้ว่าจะตอบอะไร หากคุณยังยืนกรานไม่ตอบ หรือตอบกว้าง ๆ ว่า มีหลากหลายมาก จำไม่ได้ หรือยังงง ๆ กับคำถาม ผู้สัมภาษณ์ก็อาจจะมองว่า คุณอาจจะทำงานไปเฉย ๆ ไม่ได้ภูมิใจในงานใดเป็นพิเศษ หรือโปรเจกต์นั้นไม่ได้มีความหมายจริง ๆ ต่อคุณ หรืออาจมองว่าคุณอาจจะไม่ได้ลงมือทำเองตั้งแต่แรก (เพราะไม่รู้วิธีอธิบายมัน) หรือแย่ที่สุดก็คือมองว่า คุณไม่ได้ทำจริง ก็เป็นได้ ฉะนั้นหากคุณเป็นคนที่ไม่ได้เตรียมพร้อมกับคำถามแบบไม่ตายตัวเช่นนี้ คุณก็ควรบอกผู้สัมภาษณ์ว่า ขอเวลาคิดก่อนนะคะ/นะครับ แต่อย่าเลือกวิธีไม่ตอบคำถามเด็ดขาด
ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์แบบใด เราอยากให้คุณได้เตรียมความพร้อม 3 ด้านหลัก ดังนี้
- เตรียมพร้อมสำหรับความรู้ความสามารถในตำแหน่งนั้น ๆ
- เตรียมพร้อมสำหรับบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับตำแหน่งนั้น ๆ
- เตรียมพร้อมตอบคำถามทั้งเชิงบวกและเชิงลบให้มั่นใจ
- เตรียมพร้อมสำหรับความรู้ความสามารถในตำแหน่งนั้นๆ
ตำแหน่งที่คุณได้สมัครเข้าไป แล้วถูกเรียกสัมภาษณ์ คุณควรขอรายละเอียด หรือ Job Description จาก HR หรือผู้ที่ติดต่อคุณเสมอ ลองเข้าไปหารายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บไซต์หรือ Official social media ของบริษัท และสามารถพิจารณาจาก community ต่าง ๆ ได้ด้วย แต่ต้องไตร่ตรอง ใช้เวลาศึกษาและทำความเข้าใจในบริษัทที่คุณสมัครงานให้ดี ตั้งแต่หน้าที่ ความรับผิดชอบ ทักษะต่างๆ ที่ทางบริษัทกำหนดไว้ในตำแหน่งนั้น ๆ วัฒนธรรมองค์กร ค่านิยม เป้าหมาย KPI/ OKR เป็นอย่างไร เพื่อให้คุณมีความพร้อมในการตอบคำถาม หากคุณไม่สามารถหาข้อมูลทั้งหมดได้ เตรียมส่วนที่คุณยังไม่รู้หรือยังไม่เข้าใจมาถามผู้สัมภาษณ์ได้เช่นกัน
ในการสัมภาษณ์แบบ Conference Call ผู้สมัครไม่ได้เดินทางมาที่บริษัท จึงมักมีคำถามว่า “บริษัทอยู่ที่ไหน?” อยากให้ เปลี่ยนเป็น “ตำแหน่งนี้ทำงานที่ไหน?” (หากบริษัทมีหลายสาขา หรือเอกสารที่ได้รับมา ไม่ได้ระบุไว้) ส่วนเรื่องของเงินเดือนและสวัสดิการ เราอยากให้เป็นคำถามท้าย ๆ หรือหากคุณรู้สึกว่า อยากจะทำงานที่นี่จริง ๆ ก็สามารถบอกแพ็กเกจที่เราต้องการไปแทน (แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในรอบพรีสกรีนที่ทาง HR โทรเข้ามานัดคุณ เขาก็มักจะถามคำถามนี้แล้ว ยกเว้นแต่ว่าตอนนั้นเราไม่ระบุจำนวนลงไป หรือทางผู้สัมภาษณ์อาจจะถามย้ำอีกรอบเพื่อยืนยันความตรงกันของข้อมูล และยืนยันว่าสามารถ offer เงินเดือนให้ตามที่ต้องการได้หรือไม่ หลังจากประเมินความรู้ ทักษะ และประสบการณ์จากการสัมภาษณ์ไปแล้ว)
โปรดเตรียมตอบคำถามเกี่ยวกับ 3 ข้อนี้ให้ดี
- ประสบการณ์ทั้งทางตรงและประสบการณ์ทางอ้อม
- ความชำนาญ/ ทักษะ รวมถึงความสามารถพิเศษ (ที่เกี่ยวข้องกับงาน)
- วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หลักการตัดสินใจ
เทคนิคการเตรียมตัวสัมภาษณ์แบบ STAR (เล่าเรื่องอย่างเจาะลึกว่า Situation ทำอะไร Timing เมื่อใด Action อย่างไร และ Result เป็นอย่างไร) จะช่วยให้เราอธิบายการทำงาน การดำเนินงานในโปรเจกต์ที่ได้รับมอบหมาย ได้ชัดเจน และช่วยไกด์การแนะนำตัวและการตอบคำถาม หากเราเป็นคนเงียบ ๆ ก็ควรฝึกการสื่อสาร อาจเริ่มที่ตำแหน่ง เพิ่มเติมหน้าที่หลักในการทำงานล่าสุด หรืองานที่ใช้เวลานานที่สุด แล้ววางแผนการตอบคำถามดังนี้
Situation: S – มีโปรเจกต์ใดที่ประสบความสำเร็จหรือภาคภูมิใจที่สุด
Timing: T – งานนั้นเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาใด
Action: A – หน้าที่ของคุณคืออะไร หรือได้ทำอะไรเพื่อคลี่คลาย แก้ไข หรือบรรลุผลในสถานการณ์นั้นๆ
Result: R – เกิดผลลัพธ์อะไรขึ้นจากสิ่งที่คุณทำลงไป
สมมติว่า คุณเป็น Investor Relation ในบริษัท DEF จำกัด มหาชน การบอกเล่าเกี่ยวกับตัวคุณ คุณก็สามารถบอกเพิ่มได้นอกเหนือจากชื่อตำแหน่งว่าเป็น Investor Relation ค่ะ … ทำหน้าที่ให้ข้อมูลกับนักลงทุน โดยดูสภาพความเสี่ยงของผู้ถือหุ้น ผลตอบแทน และความรับผิดชอบทางสังคม โดยร่วมงานกับทีม CSR และทีมพัฒนาความยั่งยืนค่ะ โปรเจกต์ที่ดิฉันภูมิใจที่สุดคือ เพิ่มความน่าเชื่อถือของหุ้น ณ ปี 2022 แนวโน้มการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นที่จับตาของนักลงทุนมาก ๆ และเราทั้งสามทีมช่วยกันผลักดันโครงการรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจนได้รับรางวัลหนึ่งในสามของประเทศ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในบริษัท และส่งผลต่อมาให้การออกหุ้นของบริษัทได้รับความน่าเชื่อถือระดับ AAA เลยค่ะ เป็นต้น
หากคุณเป็นเซลล์ ระดับผู้บริหารก็อาจเล่าได้ว่า ดิฉันเป็น Sales Manager ที่นำทีมให้ทำยอดขายสูงสุดในบริษัท เมื่อปี 2024 ทางบริษัทได้ชนะการประมูลงานที่ ABC Corporation โดยที่ตอนแรกคิดว่าบริษัทเราไม่น่าจะได้ เพราะมีประสบการณ์น้อยกว่าที่อื่น แต่เมื่อดิฉันและทีมได้ช่วยกันทำแผนโครงการ รวมถึงหา supplier ต่าง ๆ ที่มีคุณภาพและให้ราคาที่ย่อมเยาและมีระยะเวลาจัดทำโครงการที่สั้นและครอบคลุมงาน Maintenance 2 เดือน ทำให้สุดท้ายเราได้โครงการนั้นมา ส่งให้บริษัทมียอดขายเพิ่มขึ้นถึง 100 ล้านบาท
หรือ หากคุณเป็นจูเนียร์โปรแกรมเมอร์ การที่ได้ deliver/deploy project สักงาน ลงแอปใน Play Store สักหนึ่งแอป ก็สามารถนำมาเล่าได้ค่ะ
ตัวอย่างเหล่านี้ เพื่อบอกว่าคุณทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร และผลของความสำเร็จนั้นคืออะไรนั่นเองค่ะ
- เตรียมพร้อมสำหรับบุคลิกภาพที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานนั้นๆ
การสัมภาษณ์งานไม่ได้วัดแค่ ความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ เท่านั้น แต่ยังพิจารณา บุคลิกภาพ ทัศนคติ และความเหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กร ด้วย ดังนั้น การเตรียมตัวเพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเหมาะสมกับงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยมักพิจารณาผ่านประเด็นต่อไปนี้:
- บุคลิกภาพทั่วไป (General Personality)
รูปลักษณ์ภายนอก ท่าทาง การเคลื่อนไหว และความสมบูรณ์ของร่างกาย ควรสะท้อนถึงความเหมาะสมกับตำแหน่งงาน หากมีจุดที่อาจทำให้ผู้สัมภาษณ์เข้าใจผิด เช่น รูปร่างดูผอม แต่คุณแข็งแรงและออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็สามารถอธิบายเสริมเพื่อสร้างความมั่นใจได้
- ทัศนคติและท่าที (Attitude & Professional Demeanor)
ความกระตือรือร้น มารยาท และการแสดงออกมีผลต่อความประทับใจของผู้สัมภาษณ์ เช่น การฟังอย่างตั้งใจ ไม่พูดแทรก ไม่เร่งสรุปแทนผู้สัมภาษณ์ รวมถึงการแสดงภาษากายที่แสดงถึงความมั่นใจและเป็นมืออาชีพ
- วุฒิภาวะ (Maturity & Emotional Intelligence)
การควบคุมอารมณ์และการตอบสนองต่อคำถามสำคัญ เช่น เหตุผลในการลาออกจากงานเก่า หากอธิบายด้วยอารมณ์หรือท่าทางไม่เหมาะสม อาจสะท้อนถึงการจัดการความขัดแย้งและความรับผิดชอบที่ยังไม่เพียงพอก็เป็นได้
- ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น (People Skills & Teamwork)
ไม่ว่าคุณจะเป็น Introvert หรือ Extrovert สิ่งสำคัญคือ ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เช่น การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ทักษะการสื่อสาร และความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์ในที่ทำงาน
- ทักษะการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา (Critical Thinking & Problem-Solving Skills)
ความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และนำเสนอแนวทางใหม่ ๆ ควรถูกสื่อออกมาในการสัมภาษณ์ เช่น การเล่าถึง โครงการที่คุณคิดค้น แนวทางที่ช่วยปรับปรุงงาน หรือวิธีที่คุณจัดการกับปัญหาที่ยากลำบาก
- ทักษะการสื่อสาร (Communication Skills)
ทักษะการสื่อสารนั้นสำคัญไม่แพ้ความสามารถในการทำงาน หากคุณ ตอบสั้นเกินไป ไม่พยายามอธิบาย หรือสื่อสารไม่เข้าใจ ผู้สัมภาษณ์อาจมองว่าคุณไม่มีความกระตือรือร้นในงานนี้ หรือไม่สามารถถ่ายทอดข้อมูลสำคัญได้ดี
- ความสามารถในการปรับตัวและบริหารเวลา (Adaptability & Time Management)
ความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับ สภาพแวดล้อมการทำงานที่แตกต่างกัน มีผลต่อการตัดสินใจรับเข้าทำงาน เช่น หากตำแหน่งนั้นต้องการความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่คุณยึดติดกับตารางเวลาคงที่ อาจทำให้ดูไม่เหมาะสมกับวัฒนธรรมองค์กรและงานนั้น ๆ
- ทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership Skills)
หากคุณสมัครตำแหน่งหัวหน้างาน คุณก็ควรแสดงให้เห็นว่า คุณมีแนวทางการบริหารคนอย่างไร เช่น การมอบหมายงาน การสนับสนุนทีม หรือการบริหารความขัดแย้ง ผู้สัมภาษณ์อาจพิจารณาจาก Feedback ที่คุณได้รับจากทีมในอดีต
การเตรียมตัวสัมภาษณ์ที่ดีไม่ได้มีแค่การตอบคำถามให้ถูกต้อง แต่ต้องสื่อสารผ่านบุคลิกภาพ ทัศนคติ และท่าทีที่เหมาะสม ควรใช้ตัวอย่างจากประสบการณ์จริง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและแสดงให้เห็นว่าคุณเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นจริง ๆ
- เตรียมพร้อมตอบคำถามทั้งเชิงบวกและเชิงลบให้มั่นใจ
ในการสัมภาษณ์งาน คุณอาจต้องเจอทั้งคำถามเชิงบวกและเชิงลบ การเตรียมตัวให้พร้อมจะช่วยให้คุณตอบอย่างมั่นใจและสร้างความประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นคำถามเกี่ยวกับ จุดแข็ง จุดอ่อน ความสามารถ หรือประสบการณ์ที่ผ่านมา
การตอบคำถามเชิงลบ: รับมืออย่างมืออาชีพ
บางครั้ง ผู้สัมภาษณ์ไม่ได้ต้องการทำให้คุณรู้สึกแย่ แต่ต้องการเข้าใจสถานการณ์ของคุณ เช่น
“เรียนเก่งขนาดนี้ ทำไมถึงยังไม่ได้งาน?”
✅ ตอบด้วยความจริง เช่น อธิบายว่าคุณ ทำอะไรระหว่างที่ยังไม่ได้งาน หรือ เลือกงานแบบไหนอยู่
✅ หากคุณได้ใช้เวลาทำกิจกรรมอื่น เช่น ไปเรียนรู้ทักษะใหม่ หรือท่องเที่ยวเพื่อเปิดมุมมอง ก็สามารถบอกได้
✅ ตอบให้เชื่อมโยงกับการพัฒนาตัวเอง เพื่อให้ผู้สัมภาษณ์เห็น ศักยภาพ ของคุณ
“จงบอกข้อเสียของคุณ?”
✅ เลือกข้อเสียที่เป็นจริง แต่สามารถพัฒนาได้ เช่น
❌ “ดิฉันลืมบ่อย ๆ และทำงานไม่เป็นระบบเลย” → แบบนี้ไม่น่าดี
✅ “ดิฉันต้องการพัฒนาทักษะการบริหารเวลา และตอนนี้กำลังฝึกใช้เครื่องมือจัดการงาน เช่น Trello และ Jira อยู่ค่ะ“
แสดงให้เห็นว่าคุณกำลังแก้ไขข้อเสียของตัวเอง เช่น
“ภาษาอังกฤษของผมยังไม่คล่องเท่าไรนักครับ แต่ตอนนี้ผมได้ลงเรียนคอร์สออนไลน์ และฝึกท่องศัพท์วันละ 5 คำครับ“
การตอบคำถามเชิงบวก: มั่นใจและสร้างความประทับใจ
หากผู้สัมภาษณ์ประทับใจในเรื่องราวของคุณ อาจชมเชยหรือขอให้คุณเล่าต่อ
✅ รับคำชมอย่างมั่นใจ → ขอบคุณและย้ำว่าคุณสามารถทำผลงานเช่นนั้นให้บริษัทได้เช่นกัน
✅ แสดงความสนใจในตำแหน่งงาน → ยิ้ม พูดถึงความท้าทายของงาน และบอกว่าทำไมคุณคิดว่างานนี้เหมาะกับคุณ
หากไม่รู้คำตอบของบางคำถาม ทำอย่างไร?
หากเป็นคำถามเกี่ยวกับ ข้อเท็จจริงที่คุณไม่ทราบ
❌ อย่าตอบแบบเดาสุ่ม หรือพูดอ้อมไปมา
✅ แจ้งตรงไปตรงมาว่า: “ขออนุญาตตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม และจะส่งให้ภายหลัง”
ทำแบบนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความรับผิดชอบ (แต่ต้องส่งข้อมูลกลับไปจริงๆ นะ!)
สุดท้ายแล้ว…การสัมภาษณ์เป็นการเลือกของทั้งสองฝ่าย คุณมีสิทธิเลือกงานเท่ากับที่บริษัทมีสิทธิเลือกคุณ เตรียมตัวให้พร้อม ตั้งคำถามกลับและพิจารณาว่างานนี้เหมาะกับคุณจริงหรือไม่
ไม่ว่าผลสัมภาษณ์จะเป็นอย่างไร คุณก็ยังจะได้ประสบการณ์ที่ดีขึ้นและพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นสำหรับโอกาสต่อไป และหากคุณพิจารณาแล้วว่า ตำแหน่งนั้นยังไม่ตรงใจกับที่คุณต้องการนัก อย่าลืมปฏิเสธงานที่ไปสัมภาษณ์มาด้วยนะคะ เผื่อว่าวันนี้ไม่ใช่ วันหน้าอาจจะมีโอกาสได้ร่วมงานกันค่ะ
และหากคุณเป็นคนสาย IT หมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ชอบงานท้าทาย ต้องการแสดงฝีมือ และกำลังมองหาโอกาสดี ๆ ให้ตัวเอง คลิกดูงานที่น่าสนใจจากเรากว่า 200 ตำแหน่งได้ที่นี่ Aware IT-Jobs
อ้างอิง: https://www.themuse.com/advice/star-interview-method
https://www.linkedin.com/pulse/20130923230007-204068115-how-i-hire-focus-on-personality/
- คิดแบบนักวางกลยุทธ์ก่อนเปลี่ยนงาน งานไหนใช่กว่า? มาเทียบคะแนนกันเลย! - April 24, 2025
- Advanced Interview Technique – รู้ทันเกมสัมภาษณ์ ตอบทุกคำถามให้ปัง - April 24, 2025
- 7 ขั้นตอนรับมือกับความเครียดที่เกิดจากการทำงาน - January 6, 2025
- รู้จัก 7Q ความฉลาด 7 ด้านที่หลายคนอาจไม่เคยรู้จัก - December 24, 2024
- แนะนำหนังสือ Atomic Habits เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น - December 13, 2024
- Reverse Mentoring เพราะเราทุกคนให้ความรู้และมุมมองที่แตกต่างกันได้ - June 20, 2024
- Certificate ที่น่าสอบเพื่อตอบโจทย์การทำงานสาย IT ในปี 2024 - June 14, 2024
- อยากเป็น Software Tester / QA Tester ต้องเริ่มอย่างไร - January 8, 2024
- สัมภาษณ์อย่างไรให้ได้งาน เราช่วยคุณเตรียมตัวได้นะ - December 7, 2023
- อยากเพิ่มทักษะให้ตัวเอง – ตัดสินใจอย่างไรระหว่างเลือกเรียนภาษาที่สามหรือภาษาคอมพิวเตอร์ ? - February 7, 2020