March 29, 2022

เราจะสร้าง Digital Footprint ที่เป็นมิตรต่อการสมัครงานได้อย่างไร

by Matana Wiboonyasake matana.w@aware.co.th

เราจะสร้าง Digital Footprint ที่เป็นมิตรต่อการสมัครงานได้อย่างไร

 

 

 

จากบทความที่แล้ว (Digital Footprint ร่องรอยบนดิจิทัลที่เราทิ้งไว้สำคัญแค่ไหน) ยิ่งเรารู้ว่าชีวิตของเราถูกแปลงเป็นดิจิทัลมากขึ้นแค่ไหน เรายิ่งต้องพิจารณาทุกๆพื้นที่บนออนไลน์ที่เราได้เคยเหยียบย่างไป เพื่อแน่ใจว่าข้อมูลของเราที่อยู่แต่ละที่นั้นถูกเปิดเผยต่อสาธารณะหรือไม่ อย่างไร เพราะนอกจากเรซูเม่และจดหมายสมัครงาน เดี๋ยวนี้ฝ่ายคัดสรรบุคลากรสามารถเสิร์ชหาชื่อของผู้สมัครบนกูเกิ้ลและโซเชียลมีเดียเพื่อรู้จักผู้สมัครอีกด้านหนึ่ง  

คำถามคือ HR ดูไปเพื่ออะไร? ก็เพื่อที่จะดูว่าคุณนำเสนอตัวเองอย่างไร และเพื่อนๆของคุณมีความคิดเห็นอย่างไรต่อสิ่งที่คุณนำเสนอ ข้อนี้สำคัญตรงที่ สิ่งที่เรานำเสนอนี้อาจจะถูกนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาถึงความเป็นไปไดว่า เราจะเข้ากับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทนั้นๆได้ดีหรือไม่ แต่ไม่ใช่เป็นการดูเพื่อใช้ตัดสินว่าคุณเป็นคนอย่างไร ฉะนั้น เพื่อที่จะเตรียมตัวให้พร้อมกับอนาคต ควรเริ่มอย่างไร เรามีวิธีที่จะช่วยจัดการและสร้างร่องรอยบนดิจิทัลที่เป็นมิตรกับการสมัครงานมาฝากค่ะ 

 

1. รู้จัก Digital footprint ของตัวเอง 

ลองแกะรอยตามสิ่งต่างๆเหล่านี้เพื่อให้รู้ว่า คุณได้ฝากร่องรอยอะไรไว้บ้าง  

  • โปรไฟล์บนโซเชียลมีเดียทั้งหมดที่คุณเคยสร้างและยังคง Active อยู่  
  • ความคิดเห็นและรูปภาพที่คุณเคยโพสต์ (หรือถูกกล่าวถึงในโพสต์ 
  • กลุ่มที่คุณเข้าร่วมและกระดานสนทนาออนไลน์ที่คุณเข้าร่วม 

ทั้งหมดนี้เพื่อที่เราจะได้เข้าใจตัวเองได้คร่าวๆ ว่าเราเคยคิด-พูด-นำเสนออะไร มีใครเห็นบ้าง และส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร 

 

2. ลองอ่านเนื้อหาบางส่วนที่คุณโพสต์ 

ลองอ่านเนื้อหาบางส่วนที่คุณโพสต์บนโซเชียลมีเดีย จากนั้นคิดในมุมมองของนายจ้างว่า เขาจะรับรู้โพสต์นั้นๆอย่างไร ซึ่งนายจ้างที่ว่านี้ อาจจะเป็นนายจ้างคนปัจจุบันหรือนายจ้างในอนาคตก็ได้ ทีนี้เมื่อรับรู้แล้ว คุณคิดว่าพวกเขาจะมองเราในแง่ดี ชื่นชม หรือมองด้วยความกังวลหรือไม่ 

 

3. ค้นหาชื่อของคุณในเครื่องมือค้นหาต่าง ๆ  

ใด คือ เราทุกคนหากไม่รู้อะไรก็สามารถหาจนรู้ได้จากกูเกิ้ล เราอยากให้ลองค้นหาชื่อและอีเมลของคุณเองในเครื่องมือค้นหาต่าง ทั้งบนกูเกิ้ลและในแต่ละโซเชียลมีเดีย แล้วสำรวจผ่าน 5 หน้าแรกของผลการค้นหา ดูข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้น พิจารณาว่ามีอะไรที่อาจจะส่งผลเสียต่อโอกาสในการได้รับการว่าจ้างหรือไม่ หากนายจ้างคนปัจจุบันหรือนายจ้างในอนาคตของคุณเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ 

 

4. ให้ความสำคัญกับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว 

ขั้นตอนต่อไปในการจัดการร่องรอยบนดิจิทัลโดยให้ความสำคัญกับการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวบนเว็บไซต์และบรรดาโซเชียลมีเดียที่คุณใช้งานเป็นประจำ เคล็ดลับก็คือ ทำให้ชีวิตส่วนตัวของคุณเป็นส่วนตัวมากที่สุด  สมมติว่า ทุกอย่างที่คุณเคยโพสต์ลงไป คนเหล่านี้ต้องไม่สามารถค้นหาเจอได้ง่าย เช่น นายจ้าง เพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้า นอกจากนี้ ควรจำกัดการแสดงความคิดเห็นและแสดงโพสต์ส่วนตัวให้เห็นได้เฉพาะคนที่คุณรู้สึกปลอดภัยด้วยที่สามารถเห็นหรือตอบโต้ได้  ฉะนั้น พิจารณาให้ดีก่อนที่จะโพสต์สิ่งต่าง ให้คนทั่วไปได้อ่าน เพราะสิ่งเหล่านั้นจะถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ นั่นหมายความว่า เราพร้อมที่จะเปิดเผยออกไปอย่างไม่ลังเล และต้องพิจารณาเสมอว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้นจะต้องไม่กระทบความเป็นมืออาชีพในสายงานของคุณ 

 

5. สร้างเนื้อหาที่ดีในโลกออนไลน์  

ถึงเวลาแล้วที่คุณควรจะคำนึงถึงเนื้อที่หาต้องการโพสต์ คุณจะเขียนอะไร แชร์อะไร จากแพล็ตฟอร์มใดบ้างที่จะส่งผลดีหรือเอื้อประโยชน์ต่อความเป็นมืออาชีพของเราบ้าง  เช่น การแชร์สถานการณ์ของเศรษฐกิจปัจจุบันเพื่อบอกความเข้าใจและเท่าทันกลไกที่เกิดขึ้น การบอกเล่าเกี่ยวกับความสำเร็จที่เราทำ จะเป็นเรื่องใดๆก็ได้ ทั้งการเริ่มต้นวิ่งจนจบตามเป้าหมาย การจบโปรเจ็คที่ร่วมงานกับแผนกอื่น ๆ ด้วยความยินดี หรือเล่นมุกชวนขำจากความอารมณ์ดีและความคิดสร้างสรรค์ของเรา แชร์ความรู้ใหม่ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับธุรกิจที่เราทำงานอยู่  

ลองจับทางเนื้อหาเหล่านี้ดู อันไหนเหมาะที่จะนำมาลงเพื่อบอกตัวตนของเราในแง่ดีต่อการทำงาน ที่สำคัญที่สุดเนื้อหานั้นควรเป็นความจริง ถููกต้อง มีเหตุมีผล รู้ที่มาแน่ชัด ไม่นำเรื่องโกหกเพื่อสร้างภาพ หรือนำข่าวปลอมมาแชร์ หรือเล่าเรื่องต่าง โดยที่ไม่มีข้ออ้างอิง สิ่งเหล่านี้อันตรายต่อตัวตนของเรามากบนออนไลน์ 

 

6. ใช้ชื่อจริงสร้างโปรไฟล์ 

สำหรับการเข้าใช้เว็บไซต์ต่าง เพื่อการหางานหรือที่เกี่ยวข้องกับแวดวงการทำงาน คุณควรใช้ชื่อจริงมาสร้างโปรไฟล์บนเว็บไซต์ เช่น บน LinkedIn, Facebook, Indeed ตลอดจนเว็บไซต์หางานอื่น ๆ นอกจากนี้ควรดูแลอัปเดตข้อมูลส่วนตัวที่คล้ายคลึงและสอดคล้องกันในทุกเว็บไซต์ วิธีนี้จะช่วยให้คุณเพิ่มความน่าเชื่อถือ มีโอกาสเพิ่มการรู้จักจากนายจ้างได้ง่ายและดีขึ้น  

 

7. ใช้พลังโซเชียลเสริมความน่าเชื่อถือ 

คุณสามารถใช้พลังของเครือข่ายโซเชียลมีเดียมาช่วยเสริมสร้างโปรไฟล์ของคุณให้น่าสนใจได้ด้วยนะ อย่างเช่น Facebook, Instagram และ Twitter เอง คุณสามารถให้ข้อมูลโปรไฟล์หรือโพสต์บนหน้าหลักที่เป็นประโยชน์แก่นายจ้างได้ ทั้งประวัติการทำงาน แสดงโพสต์ที่เผยให้เห็นบทสนทนาที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ตรงนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงความคิดเห็นที่คนอื่น มีต่อคุณ วิธีที่คุณสื่อสารกับผู้อื่น หรือแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการจัดสิ่งต่าง ในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

นอกจากนี้ บน LinkedIn คุณสามารถขอให้ผู้ที่เคยร่วมงานช่วยรับรองทักษะในการทำงานของคุณได้ หรือแบ่งปันประสบการณ์การทำงานเชิงบวกกับผู้ติดตามของคุณ หากเนื้อหานั้นน่าประทับใจมาก ก็อดไม่ได้ที่คนอื่น จะมาแชร์สิ่งที่คุณทำต่อไป เห็นไหมล่ะ วิธีนี้ก็น่าสนใจทีเดียวนะ คุณว่าไหม? 

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยส่งเสริมภาพความเป็นมืออาชีพให้คุณบ้างไม่มากก็น้อย  เพียงแต่ลองพิจารณาแล้วทำตามในสิ่งที่คุณคิดเห็นว่าน่าสนใจ อย่าลืมว่า เมื่อผู้ว่าจ้างในอนาคตกำลังมองหาใครสักคนมาร่วมงาน พวกเขาควรจะได้เห็นภาพด้านการทำงานของคุณได้อย่างชัดเจน ได้พบความเป็นมืออาชีพ ความน่าเชื่อถือ และ่สิ่งที่น่าประทับใจจากตัวคุณ หากคุณลองปรับดู เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าคุณอาจจะมีชัยหรือได้เปรียบเหนือผู้สมัครคนอื่น ๆ และมีแต่จะเพิ่มโอกาสที่ได้รับการติดต่อจากนายจ้างที่คาดหวังได้เร็วขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

Uncategorized