January 13, 2020

วิธีเลือกกองทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยง

by Thanthip Suratthanyakorn Nat

วิธีเลือกกองทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยง
เพราะความสามารถในการรับความเสี่ยงของแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน บางคนเลือกที่จะหลีกเลี่ยง บ้างก็อยากลดความเสี่ยงนั้นลง บ้างก็เลือกที่จะโอนความเสี่ยงไปให้ผู้อื่น และบ้างก็รับความเสี่ยงไว้เต็มๆเองผู้เดียว แต่ไม่ว่าจะเลือกแบบไหน เราทุกคนต้องยอมรับว่า เรามีชีวิตอยู่บนความเสี่ยงไม่มากก็น้อย

เชื่อพี่สิ พี่เรียนมา
มองให้ชัดเจนง่ายๆ โดยสมมติว่า นางสาวรักงาน ว่ายน้ำไม่เป็น กลัวน้ำ และกลัวการเดินทางด้วยน้ำทุกชนิด เธอไม่สามารถเดินทางไปพักผ่อนที่คั่นด้วยทะเลหรือแม่น้ำได้เลย หากไม่ได้ไปโดยเครื่องบินหหรือการเดินทางในรูปแบบอื่น อย่างไรก็ตาม บ้านของเธออยู่ตลาดบางกะปิ ส่วนที่ทำงานอยู่ประตูน้ำ เธอออาจจะต้องตื่นเช้ามากๆ เพื่อนั่งรถเมล์หรือขับรถไปทำงาน ทั้งๆที่เธอสามารถตื่นสายกว่านั้นแล้วเลือกนั่งเรือคลองแสนแสบ ด้วยเวลาการเดินทางไม่เกิน 40 นาทีถึงที่หมายได้ แต่เธอไม่สามารถหักห้ามความกลัวที่เกิดขึ้น นี่หมายความว่า เธอเลือกแบกรับความเสี่ยงไว้เต็มๆคนเดียว (ความเสี่ยงในการไปทำงานสายถ้าเธอไม่เตรียมตัวดีๆ)

เชื่อพี่ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงเป็นวิธีที่ไม่ Make sense
ต่อมา แม้เธอจะเลือกการขับรถยนต์ไปทำงานเอง ก็ยังเกิดความเสี่ยงขึ้นด้วย เริ่มง่ายๆ คือ ประกันภัยรถยนต์ เธออาจเลือกรับความเสี่ยงไว้เอง รับค่าใช้จ่ายไว้ทั้งหมด เมื่อเธอเลือกไม่ทำประกัน (ไม่ได้หมายความถึง พรบ.) หรือทำประกันแบบลดความเสี่ยงที่ต้องแบบรับไว้ทั้งหมด ด้วย ประกันชั้น 2 หรือ 2+ หรือเธออาจจะไม่อยากรับความเสี่ยงหรือค่าใช้จ่ายใดๆเลยเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ด้วยการทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ซึ่งก็มีค่าใช้จ่าย(ค่าบริการ)สูงสุด ทั้งนี้เราจึงสรุปได้ว่า ค่าใช้จ่ายจะขึ้นกับความเสี่ยงที่เราโอนไปให้ผู้อื่นนั่นเอง

ในทางเดียวกัน กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่พนักงานหลายคนร้อง “ยี้” นั้น ก็ให้ผลตอบแทนตามการเลือกและความสามารถในการรับความเสี่ยงของพวกเรานั่นเอง

ปัจจัยกำหนดความเสี่ยงของคนเรามีหลากหลายอย่าง เช่น อายุ เงินเดือน ภาระค่าใช้จ่าย เงินออม ความรู้(ด้านการลงทุน) เป้าหมายการเงินระยะยาว รวมไปถึงผลตอบแทนที่ต้องการ เป็นต้น เพราะมันเป็นไปไม่ได้เลยที่คนเราอายุใกล้เกษียณ แถมไม่มีความรู้ด้านการลงทุน จะสามารถเอาเงินเก็บทั้งหมดไปลงในกองทุนหนึ่งๆที่ความเสี่ยงสูงมากกกก แล้วคาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทน 15%++ โดยที่เงินต้นไม่เสียไป ถ้าเขาทำได้ นั่นไม่ได้เรียกว่า “การลงทุน” บ้านพี่เรียก “การพนัน”
ไม่มีผลตอบแทนของกองทุนไหนดีเลิศเลอ แต่ความเสี่ยงต่ำเตี้ยติดดินหรอก

เชื่อพี่ พี่เคยลงทุนเจ๊งมาก่อน
ปกติแล้ว กองทุนจะมีแบบประเมินความเสี่ยงให้เราทำ และเราก็ควรรู้จักตัวเองว่าสามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด กองทุนที่ลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ (หุ้น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ) มักเผชิญความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนร่วมด้วย ในขณะที่กองทุนภายในประเทศ เช่น ลงทุนตราสารหนี้ อันได้แก่ หุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาล จะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าการลงทุนในตราสารทุน ซึ่งก็คือการลงทุนในหุ้นสามัญที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง เราจึงต้องรู้จักตัวเองว่ารับความเสี่ยงอะไรได้บ้างด้วยคำถามง่ายๆว่า หากไม่ได้รับเงินต้นคืน เราจะเดือดร้อนขนาดไหน หรือ ตัวเรามีความต้องการจะใช้เงินฉุกเฉินบ่อยแค่ไหน

ส่วนตัวอยากแนะนำทุกคนถึงหลักการ 80:10:10 คือ หัก 10% ของรายได้ทันทีไว้ในเงินออม (คลิกเพื่ออ่านต่อได้ที่นี่) และหักอีก 10% ไว้ในเงินลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นกองทุนสำรอง หรือการซื้อพอร์ทออมหุ้น หรือประกันชีวิตสะสมทรัพย์ ก็ได้ ทำแบบนี้ทุกๆเดือน ชีวิตจะมีภูมิต้านทานในการเผชิญความเสี่ยงได้ดีกว่าเดิมค่ะ

อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาเก็บออมเงิน ถ้าคิดว่าไม่สามารถเก็บได้เอง เราขอแนะนำให้ส่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทุกเดือน

เชื่อพี่ พี่เคยออกจากงานโดยไม่ได้เงินเดือนมาก่อน แต่ยังคงดำรงชีวิตต่อได้ด้วยเงินกองทุนฯนี่แหลล่ะ
สุดท้าย ทั้งหมดที่กล่าวเพียงอยากจะให้ทุกคนเข้าใจถึงความเสี่ยง ภายใต้ความน่ามีความคุ้มค่าหากเราศึกษาและเริ่มเสียแต่วันนี้ ส่วนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเรื่องที่คุณควรทำ เพราะสิ่งนี้สามารถนำมาใช้เลี้ยงชีพได้จริงๆนะ และอยากให้คุณศึกษาเพิ่มเติมเพื่อที่จะรู้จักวิธีเลือกกองทุนที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตัวเองได้อย่างถูกต้องค่ะ

วิธีเลือกกองทุนตามความสามารถในการรับความเสี่ยง

About Thanthip Suratthanyakorn

Senior Recruiter - Group Recruitment & Organization Development | Aware Group - Passion in supporting people to unlock their career potential, tailored to professional goals and personal needs. | อยากให้ทุกคนได้ทำงานที่ตัวเองรัก ได้พัฒนา มีแนวคิด ได้ใช้ชีวิต และมีความสุขกับวันธรรมดาๆไปด้วยกัน

Uncategorized