June 2, 2021

Pride Month 2021 | Aware People

by Matana Wiboonyasake matana.w@aware.co.th

Pride Month 2021 | Aware People

Pride Month 2021

หากพูดถึงเดือนมิถุนายน สิ่งที่เรามักจะสังเกตุเห็นได้คือสัญลักษณ์ ‘สีรุ้ง’ ละลานตา รวมทั้งภาพความสนุกสนานและกิจกรรมเกี่ยวกับการแสดงออกถึงสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มที่เรียกว่า ‘LGBTQ’ ตลอดทั้งเดือน แต่จะมีใครบ้างที่จะทราบว่าความสนุกสนานที่เกิดขึ้นนี้จุดเริ่มต้นมาจากความรุนแรง

ในยุค 70’s  การรักเพศเดียวกัน รวมทั้งการแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิดถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายและผิดปกติในสังคม จึงทำให้เกิดเหตุการณ์จราจลสโตนวอลล์ ที่นิวยอร์ก ในคืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจกับกลุ่ม LGBTQ ที่แสดงความไม่พอใจต่อการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่เป็นธรรมและไม่เคารพสิทธิของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เหตุการณ์นั้นนำไปสู่การเดินขบวนเรียกร้องสิทธิสำหรับกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ ในปี 2000 ประธานาธิบดีบิล คลินตัน (Bill Clinton) ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภูมิใจของชาวเกย์และเลสเบี้ยน’ และในอีก 9 ปีต่อมา ประธานาธิบดีบารัก โอบามา (Barack Hussein Obama) ได้ประกาศให้เดือนมิถุนายนเป็น ‘เดือนแห่งความภาคภูมิใจของชาวหลากหลายทางเพศ’ นับจากนั้นเดือนมิถุนายนของทุกปีจึงได้มีการรำลึกถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และเรียกเดือนนี้ว่า ‘Pride Month’

‘LQBTQ’ ย่อมากจาก (Lesbian, Gay , Bisexual, Transgender/Transsexual และ Queer) คือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ จึงไม่แปลกใจที่จะถูกมองว่ามีความแตกต่าง ทำให้เกิดการแบ่งแยกขึ้นในสังคม อาจมีสาเหตุมาจากรสนิยมทางเพศ หรือการแสดงออกทางเพศ ส่งผลให้เกิดค่านิยมการปฏิบัติกับบุคคลเหล่านี้แตกต่างจากบุคคลทั่วไปในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการถูกล้อเลียนโจมตีด้วยคำพูด บางรายอาจเคยถูกลวนลามทางเพศ ไปจนถึงการโดนปฏิเสธไม่รับเข้าทำงาน ถูกปฏิเสธไม่ให้เลือนตำแหน่งเนื่องด้วยการแสดงออกทางเพศ ไม่ได้รับสิทธิการรักษาสุขภาพที่เหมาะสม หรือได้รับแรงกดดันจากครอบครัวให้แต่งงานกับเพศตรงข้าม เนื่องจากในสังคมการแต่งงานของหญิง-ชายยังคงเป็นมาตรฐานทางวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับทั้งในทางสังคมและในทางกฎหมาย ทำให้ล่าสุดมีการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตขึ้น เพื่อเป็นการรับรองสิทธิของคู่รักที่มีเพศเดียวกันให้เป็นคู่ชีวิต และเป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวได้เช่นเดียวกับคู่สมรส (ชาย – หญิง)

ถึงแม้ว่าในปัจจุปันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้อาจไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับเพศชาย – หญิงในสังคม การที่บุคคลเหล่านี้ได้ออกมาแสดงข้อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศนั้น เพียงแค่ต้องการให้สังคมได้มองพวกเขาเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ที่เหมือนกับทุกคน อยากให้เข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เคารพสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ลดอคติ เปิดใจและเปิดโอกาส ไม่ตัดสินคนจากลักษณะภายนอก มองถึงความสามารถของตัวบุคคลให้ข้ามผ่านคำว่า ‘เพศ’ ออกไป

เรียบเรียงโดย วรกฤษ มาละดา

 

สำหรับคนที่ยังติดอยู่กับเรื่องของลักษณะที่แตกต่าง คุณอยากบอกอะไรกับพวกเขา? 

Pride Month 2021 | Aware People

 

หากย้อนกลับไปในช่วงวัยเด็ก เรามักจะถูกเพื่อนล้อเลียนและไม่ยอมให้เราเข้ากลุ่มด้วย เนื่องจากเรามีบุคลิกภาพที่แสดงออกแตกต่างจากเพื่อน ด้วยความสงสัย ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจของเด็ก จึงเป็นเรื่องที่น่าตลก และเป็นเรื่องแปลกในสมัยนั้น ทำให้เราต้องแอบไปร้องไห้อยู่เสมอ เมื่อโตขึ้นจึงพบว่าการร้องไห้นั้นมันทำให้เราเข้าใจตัวเองและทำให้เรารู้จักพัฒนาตัวเองให้มากกว่าคนอื่น ใช้ความแตกต่างนั้นมาเป็นแรงพลักดันทำในสิ่งต่างๆ ให้ออกมาดีที่สุด เก่งที่สุด และทำให้เรามีความสุขที่สุด ไม่ใช่เพราะใครแต่เพราะตัวเราเอง

เมื่อเข้าสู่วัยทำงาน เรามักจะโดนตัดสินว่ามีบุคลิกภาพที่ไม่น่าเชื่อถือจนมองข้ามความสามารถของเรา วิธีการรับมือที่ง่ายที่สุด คือการจัดการความคิดตัวเอง สิ่งไหนที่ควรปรับปรุงควรนำมาปรับปรุง แสดงออกแบบสวนทางไม่โต้ตอบกลับ เข้าใจในตัวเขา และพัฒนาความสามารถที่เรามีให้ดียิ่งขึ้น

ในด้านครอบครัว เราโชคดีที่มีครอบครัวเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น แต่ก็มีเพื่อนหลายๆคนที่ยังพบเจอกับปัญหานี้ เราเชื่อว่าท่านเข้าใจในสิ่งที่เราเป็น หากแต่ต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่แตกต่างจากสมัยของท่าน ซึ่งความไม่เข้าใจนี้มักเกิดจากความห่วงใยที่ท่านมีให้ เพราะการใช้ชีวิตในสังคมย่อมมีอุปสรรคต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เพราะฉะนั้นต้องทำให้ท่านเห็นว่า เราสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข และพึ่งพาตัวเองได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัว

สุดท้ายอยากจะบอกว่าแม้ว่าในปัจจุปันกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากลุ่มบุคคลเหล่านี้ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกับเพศชาย – หญิงในสังคม การที่บุคคลเหล่านี้ได้ออกมาแสดงข้อเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมทางเพศนั้น เพียงแค่ต้องการให้สังคมได้มองพวกเขาเป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ที่เหมือนกับทุกคน อยากให้เข้าใจและยอมรับในความแตกต่าง ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เคราพสิทธิของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ลดอคติ เปิดใจและเปิดโอกาส ไม่ตัดสินคนจากลักษณะภายนอก มองถึงความสามารถของตัวบุคคลให้ข้ามผ่านคำว่า ‘เพศ’ ออกไป

“พวกเขาไม่ได้ต้องการสิทธิพิเศษมากกว่าคนอื่น แต่พวกเขาแค่ต้องการการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมแค่เท่านั้น”

วรกฤษ มาละดา (อั๋น) | Account | Aware Outsourcing Services

 

 

อยากบอกอะไรกับเพื่อนๆของเรา?

Pride Month 2021 | Aware People

 

เอสเป็น 1 ใน LGBTQ Community ถ้าให้นิยามตัวเองก็คือ Transgender ค่ะ ถ้าย้อนกลับไปก็เป็นมาตั้งแต่จำความได้ค่ะ เราไม่เหมือนเด็กผู้ชายคนอื่น ทั้งพฤติกรรม ลักษณะนิสัย เพราะจะค่อนข้างทำกิจกรรมคล้ายๆเด็กผู้หญิงค่ะ แล้วครอบครัวก็ไม่ได้มีปิดกั้นอะไรนะคะ จะมีแต่คุณพ่อที่แซวเล่นๆบ้างค่ะ แต่ท่านไม่เคยว่าเราเลย จากวันนั้นถึงวันนี้ก็ใช้ชีวิตในแบบของตัวเองค่ะ มีหลายช่วงเวลา ตอนเรียนมัธยม ก็เรียกหัวโปกบ้าง มหาวิทยาลัยก็แต่งชายมีแต่งหญิงบ้างเวลาออกงาน ส่วนตอนนี้ก็ Transformed มาเทคฮอร์โมน อาหารเสริมเป็นเพศสภาวะผู้หญิงค่ะ อันนี้ก็คือ Background ของเอสเลยนะคะ

ส่วนตัวคิดว่าการมี Pride Month มันดีมากค่ะ เพราะเป็นเดือนแห่งความภาคภูมิใจในการแสดงสิทธิของกลุ่ม LGBTQ ว่าเราก็สามารถที่จะยืนหยัดและมีสิทธิอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งโดยไม่มีคำว่าเพศสภาวะหรือรสนิยมทางเพศมาเป็นข้อจำกัด อย่างที่เราเห็นก็คือจะมีงานต่างๆ ที่เฉลิมฉลองขึ้นของกลุ่ม LGBTQ ในหลาย ๆ ที่ทั่วมุมโลก ยกตัวอย่างในประเทศไทย ก็จะมี  Chaing Mai Pride, Phuket Pride เป็นต้น แล้วนี่คือสิ่งที่ตอกย้ำว่าไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดทั้งนิยามได้หรือนิยามไม่ได้ก็ตามแต่คุณก็สามารถแสดงจุดยืนเพื่อแสดงให้โลกได้ตระหนักว่า “ไม่ว่าเราจะเป็นอะไรเราต้องยอมรับและภูมิใจในสิ่งที่เราเป็น”

อนุชา ศรีภูงา (เอส) | Business Consultant – BizSol | Aware Corporation Limited

 

 

มุมมองของคนอื่นๆในเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้าง? 

 

Pride Month 2021 | Aware People

 

ในส่วนตัว โยมองว่าปัจจุบันเรื่อง LGBTQ เป็นเรื่องใกล้ตัวมาก ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เริ่มเปิดรับกับเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ถือเป็นแนวโน้มที่ดีค่ะ ตัวโยก็เคยเจอประสบการณ์ที่มีคนเข้าใจโยผิดอยู่บ้างซึ่งส่วนใหญ่ที่เจอ จะเป็นเรื่อง ขำ ๆ มากกว่าค่ะ อย่างเช่น เวลาไปเข้าห้องน้ำสาธารณะ 80% ที่ไปเข้าและจะเจอ คนมาพูดว่า นี่ห้องน้ำหญิงค่ะ, ห้องน้ำชายอยู่ฝั่งนั้นนะ, แม่พี่เขาเป็นผู้ชายทำไมมาเข้าห้องน้ำเราได้คะ หรือบางคนเดินเข้ามาเจอเรา จะทำหน้าตกใจแรงมาก และเดินออกไปดูป้ายหน้าห้องน้ำใหม่อีกรอบก็มีค่ะ แต่ก็จะบอกกลับเสมอว่า ห้องน้ำผู้หญิงถูกแล้วค่ะ 555

อีกเรื่องที่อยากเล่าให้ฟังคือตอนมาสมัครงานที่ Aware ก็มีได้รับสัมภาษณ์งานทางโทรศัพท์ก่อน โดยถามเรื่องพื้นฐานทั่วๆไป โยเลยแจ้งไปว่า หนูเป็นทอมนะพี่ บริษัทพี่โอเคไหม ก็ได้รับคำตอบมาว่า ได้เลย เราเปิดรับทุกเพศ ไม่มีการปิดกั้น ก็ถือเป็น First Impression กับทาง Aware ค่ะ

ธัญยรัชต์ เรื่องสมานวงศ์ (โย) | Business Consultant – BizSol | Aware Corporation Limited

 

Aware Group เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่เปิดกว้างและให้ความสำคัญในคุณค่าของแต่ละบุคคล เราภูมิใจที่เราเป็นอีกหนึ่งองค์กรที่ได้ร่วมงานกับเพื่อนร่วมงานมากความสามารถ ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร และมีอัตลักษณ์อย่างไร ภายในองค์กรนี้เราสามารถสร้างทีมงานที่มีความผูกพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น และผลิตผลงานดีเยี่ยมออกมาร่วมกัน เพราะเรายอมรับ เราเชื่อในความสามารถและคุณค่าในตัวตนของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ

 

#PrideMonth

#AwarePeople

#WeAreAware

 

 

Uncategorized